เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เมื่อมีการการปรับปรุงกฎกติกา การนำส่งข้อมูลหนี้ของลูกค้าธนาคาร และสถาบันการเงินเข้าฐานของเครดิตบูโรใหม่แล้ว อะไรคือสิ่งที่ต้องรู้


 
เมื่อต้นเดือนกันยายน 2557 ได้มีการเปิดเผยข่าวฉบับที่ 39/2557 จากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุเรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์การส่งข้อมูลลูกหนี้ค้างชำระให้เครดิตบูโร (ชื่อทางการคือ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด) สาระสำคัญโดยสรุปที่ผมขอถือโอกาสให้ข้อมูลเพิ่มเติมในแบบภาษาบ้านๆดั งนี้ครับ
 
1. คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต (กคค.) ที่เป็นคนออกประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์นี้เป็นคณะกรรมการตามกฎหมาย มีหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงินสมาชิกเครดิตบูโร และตัวของเครดิตบูโร รวมทั้งดูแลสิทธิของเจ้าของข้อมูลซึ่งก็คือเราๆท่านๆ ที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อเงินกู้ / บัตรเครดิต / สินเชื่อบ้าน / สินเชื่อรถยนต์-จักรยานยนต์ / สินเชื่อส่วนบุคล บัตรกดเงินสด สินเชื่อ 0% และสินเชื่ออื่นๆ อีกมากมาย
 
ท่านผู้อ่านต้องเข้าใจนะครับว่า คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต  (กคค.) ไม่ใช่คณะกรรมการบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือก็คือ คณะกรรมการที่ออกระเบียบที่มีชื่อย่อว่า กคค. นี้นั้น ไม่ใช่คณะกรรมการเครดิตบูโรนะครับ อย่าเข้าใจผิด ตัวของเครดิตบูโร ไม่มีอำนาจไปออกประกาศกำหนดอะไรทั้งสิ้น เครดิตบูโรเป็นผู้ปฏิบัติตามที่ประกาศของ กคค.  ได้ออกมาให้ดำเนินการ ถ้าเครดิตบูโรไม่ทำก็จะมีโทษในทางกฎหมาย บางเรื่องก็ปรับ บางเรื่องก็ถึงจำคุกที่ไปพาดหัวกันว่าเครดิตบูโรทำอย่างนั้น เช่น เครดิตบูโรยกเลิกกติกาอะไรประมาณนี้ นั้นมันไม่ถูกต้องครับ
 
2. ระเบียบที่ปรับปรุงออกมาใหม่คือ กคค. มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ระยะเวลาการส่งข้อมูลของสมาชิกเครดิตบูโร(สมาชิกในที่นี่ก็คือ ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ กว่า 80แห่งในเวลานี้)  โดย กคค.กำหนดให้สมาชิกเครดิตบูโร ส่งข้อมูลลูกหนี้ค้างชำระหนี้เกิน 90 วัน (ลูกหนี้ NPL ที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่าหนี้เสียนั่นเอง) เป็นระยะเวลา 5 ปี อธิบายง่ายๆ ให้เข้าใจคือ 
 
สมาชิกเครดิตบูโรที่มีบัญชีหนี้เสีย (ค้างเกิน 90วัน) ของลูกหนี้รายใดรายหนึ่งนั้น ให้ส่งประวัติลูกหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าว ซึ่งยังไม่มีการชำระหนี้เข้ามาให้เครดิตบูโรทุกเดือนต่อเนื่องไปเป็นระยะเวลา 60 เดือน หรือ 5ปี 
 
ส่งข้อมูลมาว่า ในเดือนนั้นๆ มีการค้างชำระตามความเป็นจริง
 
ให้เครดิตบูโรแสดงข้อมูลลูกหนี้บัญชีที่เป็นหนี้เสียนี้ต่อไปอีก 3 ปีหรือ 36 เดือน
 
ดังนั้นเมื่อรวมระยะเวลาที่ข้อมูลของลูกหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวจะปรากฏในฐานข้อมูลของเครดิตบูโร รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 8 ปีแล้ว จากนั้นประวัติในบัญชีที่เป็นหนี้เสียของลูกหนี้รายดังกล่าวจะถูกลบออกจากระบบฐานข้อมูลของเครดิตบูโร
 
ณ ขณะใดขณะหนึ่งที่ยังไม่มีการลบข้อมูลออกไป เวลาธนาคารหรือสถาบันการเงินเข้ามาดูข้อมูลก็จะเห็นข้อมูลย้อนหลังจากจุดของปัจจุบันไม่เกิน 36 เดือน เช่น เป็นหนี้เสียไม่จ่ายมาตั้งแต่ปี 2546 ธนาคารหรือสถาบันการเงินจะส่งข้อมูลบัญชีนั้นเข้ามาทุกเดือนตั้งแต่ปี 2546, 2547, 2548 .....2557 หากแต่การแสดงผลข้อมูลจะแสดงให้ธนาคารและสถาบันการเงิน หรือแม้แต่ตัวลูกหนี้เองย้อนหลังจากปัจจุบันลงไปคือปี 2557, 2556, 2555 หรือก็คือที่เราเรียกว่า 3 ปีย้อนหลัง
 
อย่าเข้าใจผิดเรื่อง กฎกติกาการนำส่งข้อมูลเข้าฐาน กับการแสดงข้อมูลในรายงานเครดิตบูโรนะครับ มันเป็นละท่อน คนละตอนกัน
 
3. ถามว่า หนี้ที่ค้าง หรือหนี้เสียที่ว่านั้น ยังอยู่หรือไม่ คำตอบคือ ยังอยู่ครับ เพราะยังไม่มีการชำระหนี้  แล้วถามต่อว่า ลูกหนี้ที่เป็นเจ้าของบัญชีหนี้ค้าง หรือหนี้เสียที่ว่านั้น ยังต้องชำระหนี้หรือไม่ คำตอบคือ ยังต้องชำระครับ ถ้าไม่ชำระ เจ้าหนี้ก็มีสิทธิดำเนินการตามกฎหมาย เพราะหลักที่ว่า "เป็นหนี้ต้องใช้หนี้ สัญญาต้องเป็นสัญญา"
 
4. เรื่องของการลบข้อมูลออกจากระบบก็เป็นเรื่องของข้อมูล เรื่องใครเป็นหนี้ใครก็ต้องไปว่ากันตามกฎหมาย ท่านที่เป็นเจ้าของบัญชีหนี้เสีย และหรือยังไม่ได้ชำระหนี้นั้น จะไปถือเอาเอง / คิดเอาเองว่า ประกาศนี้เท่ากับยกหนี้ให้ไม่ได้นะครับ ไม่มีใครเขาทำอย่างนั้นได้ เรื่องนี้จะไป "มโน" เอาเองไม่ได้ครับ แต่การปรับปรุงให้ทำแบบนี้จะช่วยให้ลูกหนี้ที่เป็นเจ้าของบัญชีหนี้เสีย และหรือยังไม่ได้ชำระหนี้นั้น หลังจากปีที่ 8 น่าจะสามารถเข้าถึงระบบการเงินได้บ้าง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการชำระหนี้ และความน่าเชื่อถือของท่านในเวลานั้น เกณฑ์ใหม่นี้มาแทนหลักเกณฑ์ปัจจุบันที่กำหนดให้สมาชิกเครดิตบูโรต้องส่งข้อมูลลูกหนี้เจ้าของบัญชีหนี้ค้าง หรือหนี้เสียดังกล่าวจนกว่าเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้น (ซึ่งก็ไม่รู้จะเป็นวันไหนกันแน่)
 
5. ตามข่าวแจกของ ธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับที่ 39/2557 ระบุให้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายวิเคราะห์และติดตามฐานะ 02-283-5848 อีเมล : CreditBureau_Secreta@bot.or.th 

 
สุรพล โอภาสเสถียร 
ผู้จัดการใหญ่ 
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 ก.ย. 2557 เวลา : 12:35:56
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 9:27 am