หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี "พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง" ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะรองประธาน คสช. ดูแลด้านเศรษฐกิจ ขณะนั้น ได้มีมติ ปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม ที่ผ่านมา ในที่สุดกระทรวงพลังงาน ก็มีมติที่จะปรับราคาก๊าซ ซึ่งเป็นราคาพลังงานที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารหน่วยงานกระทรวงพลังงาน ว่า นโยบายเร่งด่วนของกระทรวงพลังงานที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานที่ยังไม่มีการปรับราคา คือ ก๊าซแอลพีจีขนส่ง และ เอ็นจีวี โดย ราคาแอลพีจีภาคขนส่ง อยู่ที่ 21.38 บาทต่อกิโลกรัม และ เอ็นจีวี อยู่ที่ 10.50 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งยังเป็นราคาที่ยังไม่สะท้อนต้นทุน ดังนั้นจำเป็นต้องทยอยปรับเพื่อความเหมาะสม โดยจะทยอยปรับตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้ เป็นต้นไป
ส่วนกลุ่มที่มีรายได้น้อย รัฐบาลยังจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการให้ความช่วยเหลือต่อไป ซึ่งเบื้องต้นอาจยังใช้แนวทางเดิม คือ บัตรเครดิตพลังงาน หรืออาจมีแนวทางอื่น ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
ส่วนการปรับราคาน้ำมันที่ได้ทยอยดำเนินการไปแล้ว จะต้องดำเนินการต่อไป เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและมีความเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะจะมีการเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซลเช่นเดียวกับที่เรียกเก็บจากเบนซิน
สำหรับการสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้า น้ำมัน และก๊าซฯ จะต้องดำเนินการไม่ให้เกิดภาวะขาดแคลน พร้อมกันนั้น จะต้องสร้างความชัดเจนด้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม ทั้งแหล่งเก่าที่กำลังจะหมดอายุสัมปทาน และการเปิดสัมปทานรอบใหม่ที่ 21 โดยด่วน เพราะการพึ่งพาการนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศจะมีราคาแพงกว่าก๊าซในอ่าวไทย
โดยราคาก๊าซที่ซื้อจากเมียนมาร์ แพงกว่าราคาที่อ่าวไทย 50% และก๊าซจากการ์ต้า แพงกว่า 1 เท่าตัว
ด้าน นายวิเชียร อุษณาโชติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากปิโตรเลียม (BCP) สนับสนุนแนวคิดการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน โดยเฉพาะโครงสร้างราคาดีเซล เนื่องจากเห็นว่า ปัจจุบันการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ยังอยู่ในอัตราต่ำ โดยอยู่ที่ 75 สตางค์ต่อลิตร หลังจากก่อนหน้านี้ภาครัฐได้ตรึงราคาขายปลีกไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรมาตั้งแต่ปี 2554 ทำให้ความต้องการใช้บิดเบือนไปจากความจริง
ทั้งนี้ พบว่า ยอดใช้น้ำมันดีเซลในปัจจุบันจำนวนมากมีทั้งในส่วนของรถหรูและรถยนต์ส่วนบุคคล ทั้งที่ต้นทุนดีเซลและกลุ่มเบนซินไม่ได้แตกต่างกัน ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจริงๆ ก็ควรจะหามาตรการอื่นๆ มาช่วยเฉพาะกลุ่ม
โดยหากมีความชัดเจนเรื่องโครงสร้างภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ก็ควรปรับให้เหมาะสม โดยประกาศล่วงหน้าประมาณ 6 เดือน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเตรียมตัวล่วงหน้าในการปรับแผนการผลิต
ข่าวเด่น