ถ้าคุณมีเงินเดือน 8 หมื่นบาท จากการเป็นวิศวกร อยู่ในบริษัทญี่ปุ่นที่ติดอันดับบริษัทชื่อดังเบอร์ต้นๆ หลายคนคงคิดว่านี้คือความมั่นคงในชีวิต แต่กับ สมเกียรติ โหสกุล วัย 58 ปีแล้ว เขากลับไม่คิดแบบนั้น นั่นเพราะอาชีพที่เขาทำอยู่นั้นคือลูกจ้าง ทุกอย่างไม่ได้เป็นของตัวเอง และด้วยมีคำพูดของอาจารย์ชาวญี่ปุ่นเมื่อครั้งที่ได้ไปศึกษาด้านวิศวะเพิ่มเติมที่แดนอาทิตย์อุทัย ที่ว่า “ทำอะไรก็ได้ที่เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วได้มองเห็นกิจการของตัวเองเติบโตขึ้นทุกๆวัน” ยังติดอยู่ในใจตลอดเวลาทำให้ความคิดต่ออาชีพของเขาเปลี่ยนไป
“คำพูดของอาจารย์กลายเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้เริ่มหันมามองที่อาชีพของตัวเอง ที่เมื่อเราเกษียณก็ต้องเลิกทำ การมีอาชีพอื่นที่จะเลี้ยงตัวเองได้ โดยที่ยังใช้ความรู้ความสามารถของตัวเองได้ต่อไปจึงเป็นสิ่งที่ต้องพยายามค้นหา จนมาลงตัวที่อาชีพเลี้ยงหมูขุน” สมเกียรติ เล่าย้อนถึงที่มาของการเริ่มต้นอาชีพใหม่
เมื่อถามว่าทำไมถึงต้องเป็นอาชีพเลี้ยงหมูขุน สมเกียรติบอกว่า เพราะอาชีพนี้เหมาะสมกับพื้นที่ ที่ต.แพรกหา อ.ควนขนุน จ.พัทลุง และเห็นว่าเพื่อเกษตรกรหลายๆคนก็ทำอาชีพนี้อยู่ แถมยังประสบความสำเร็จด้วย เขาจึงได้เริ่มต้นศึกษาความเป็นไปได้ของอาชีพ และพบว่าการร่วมเป็นเกษตรกรในโครงการเลี้ยงสุกรขุนแบบประกันรายได้ กับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ นั้นเป็นอาชีพที่เริ่มต้นง่าย ไม่มีความเสี่ยง โดยเขารับผิดชอบในการปลูกสร้างโรงเรือนตามมาตรฐานของบริษัท จากนั้นบริษัทจะนำพันธุ์สัตว์ อาหาร ยารักษาโรค วัคซีนต่างๆ มาให้ตามโปรแกรมที่กำหนด เรียกว่าฝากความเสี่ยงเรื่องวัตถุดิบการผลิตไว้กับบริษัทโดยสิ้นเชิง ส่วนตัวเองในฐานะเกษตรกรก็จะมีหน้าที่ดูแลให้การเลี้ยงหมูเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ไม่เพียงทำให้เขามีรายได้ดีเท่านั้น แต่ยังเป็นหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตเนื้อหมูปลอดภัยเพื่อผู้บริโภค ด้วยมาตรฐานการผลิตที่ซีพีเอฟผลักดันให้เกษตรกรทุกคนดำเนินการมาโดยตลอด ทำให้การผลิตเป็นไปอย่างมีขั้นตอน ถูกต้องตามหลักวิชาการ มีหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ควบคุมให้ได้มาตรฐาน เช่น กรมปศุสัตว์ โดยทุกฟาร์มต้องผ่านมาตรฐานฟาร์มตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ จึงจะสามารถเลี้ยงหมูขุนเพื่อการบริโภคอย่างปลอดภัยได้ ทั้งปลอดจากการใช้สารเร่งการเจริญเติบโตใดๆ และปลอดจากโรคระบาดต่างๆ
“ถือว่าเราเป็นต้นทางการผลิตเนื้อหมูคุณภาพให้ผู้บริโภค จึงต้องเอาใจใส่ในกระบวนการผลิต เพื่อให้การผลิตมีประสิทธิภาพ และจะเน้นเรื่องการป้องกันโรคที่เข้มงวดที่ช่วยลดอัตราสูญเสียจากเรื่องโรค เพราะเมื่อหมูอยู่สบายก็ไม่มีโรคและไม่ต้องใช้ยารักษา ที่สำคัญคือทำตามมาตรฐานต่างๆที่บริษัทแนะนำ ซึ่งเท่าที่ร่วมโครงการคอนแทรคฟาร์มมากว่า 3 ปี ผลผลิตก็ดีขึ้นมาตลอด” บุญทุ่ม กล่าวอย่างภูมิใจ
ที่สำคัญที่สมเกียรติฟาร์มนี้ไม่ได้มุ่งหวังเพียงแค่ผลกำไรจากการเลี้ยงหมู แต่ยังมองเลยไปถึงการอยู่ร่วมกันกับชุมชนอย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ โดยเฉพาะการใช้ระบบไบโอแก๊สมาบำบัดของเสียและน้ำเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต ที่ช่วยเปลี่ยนขี้หมูที่เคยดูว่าไร้ค่าและเป็นปัญหาของชุมชนให้กลายเป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่ช่วยลดรายจ่ายให้กับสมเกียรติได้มากกว่า 50% จากที่เคยเสียค่าไฟถึงเดือนละกว่า 54,000 บาท ปัจจุบันเขาจ่ายค่าไฟฟ้าทั้งเดือนละเพียง 27,000 บาท เพราะขี้หมูที่ถูกนำเข้าระบบไบโอแก๊สแบบ Plug Flow ขนาดบ่อ 300 ลบ.ม. สามารถสร้างก๊าซมีเทนที่นำไปเข้าเครื่องปันไฟแปลงก๊าซที่ได้เป็นกระแสไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์ม แถมยังนำแก๊สส่วนหนึ่งเข้าระบบท่อแก๊สรวมกับเพื่อนๆเกษตรกรในตำบลแพรกหา กลายเป็นก๊าซหุงต้มลดค่าใช้จ่ายให้กับเพื่อนบ้านได้อีกด้วย
"ขี้หมูทั้งหมดไม่มีทิ้งแม้แต่นิดเดียว นอกจากแก๊สที่ได้ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้ฟาร์ม ได้แก๊สหุงต้มให้เพื่อนบ้านแล้ว กากขี้หมูที่ได้หลังจากผ่านระบบหมักแล้วเรายังดึกกากขึ้นมาตากขายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ให้เพื่อนเกษตรกรสวนยาง สวนปาล์ม เรียกว่าต้องจองล่วงหน้าทุกวันนี้แทบไม่พอขาย ทำให้การเลี้ยงหมูขุน 2,200 ตัว รุ่นหนึ่งเลี้ยง 145-150 วัน เรามีรายได้เสริมอีกราวๆ 49,000 บาท” สมเกียรติ กล่าว
ส่วนน้ำหลังการบำบัดก็ไม่ทิ้งให้เปล่าประโยชน์ เพราะที่สมเกียรติฟาร์มเขายังแบ่งปันน้ำนี้ให้เพื่อนเกษตรที่ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์นำไปรดต้นหญ้าแบบฟรีๆ ช่วยเพิ่มผลผลิตโดยไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้เพื่อนบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกเดือนละกว่า 10,000 บาท
“การตัดสินใจทิ้งอาชีพวิศวกรที่ทำมาเกือบตลอดชีวิตมาเป็นเกษตรกรเลี้ยงหมู เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เป็นการเลือกที่ถูกต้อง เพราะทุกๆ 5 เดือน ผมจะได้จับเงินล้าน มีรายได้เฉลี่ยเดือนละประมาณ 2 แสนบาท ที่สำคัญคือเราได้อยู่กับครอบครัว และมีเวลาค้นหาสิ่งใหม่ ศึกษาค้นคว้าเทคโนโลยีดีๆ มาปรับใช้กับอาชีพที่เป็นของเราเอง ทุกวันนี้ผมบอกได้คำเดียวว่า มีความสุขกับอาชีพเกษตรกรที่สุดแล้ว” สมเกียรติ บอก
ข้อสำคัญหนึ่งที่ทำให้สมเกียรติหันเข้ามาในระบบคอนแทรคฟาร์ม เพราะบริษัทมีการทำสัญญาข้อตกลงไว้ตั้งแต่ต้นก่อนจะเริ่มโครงการ ซึ่งจะระบุเงื่อนไขต่างๆ เกี่ยวกับ ผลผลิต ปริมาณ คุณภาพ ระยะเวลา ตลอดจนมีการให้คำแนะนำทางวิชาการ การชดเชยค่าเสียหาย โดยมีการจัดการเป็นระบบระเบียบชัดเจน และซีพีเอฟก็จะมุ่งเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่บริษัทค้นคว้าพัฒนาและได้รับการทดสอบแล้วว่าสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับเกษตรกรได้จริง ขณะที่เกษตรกรอย่างเขาจะมุ่งมั่นใส่ใจในการผลิตให้ได้ตามมาตรฐานความสำเร็จจึงเกิดขึ้นได้ไม่ยาก
การส่งเสริมให้เกษตรกรมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตอาหารปลอดภัย ที่ซีพีเอฟกำลังเดินหน้าดำเนินการอยู่นี้ ก็เพื่อสร้างต้นทางอาหารที่ดีมีคุณภาพสู่ผู้บริโภค และต้องชื่นชมเกษตรกรที่เปิดรับเทคโนโลยีและต่อยอดความสำเร็จอย่างไม่สิ้นสุด เพื่อร่วมกันยกระดับภาคเกษตรของไทยด้วยทางหนึ่งนั่นเอง
ข่าวเด่น