บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เล็งเห็นปัญหาการถูกต้มตุ๋นเรื่องปลดล็อกหนี้จากเครดิตบูโร จึงเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องเร่งบอกกล่าวให้ประชาชนเข้าใจข้อเท็จจริง นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร ชี้แจงว่า จากข่าวที่มีการจับกุมผู้โฆษณาชวนเชื่อประกาศทางอินเทอร์เน็ตว่าสามารถรับทำบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล บ้าน รถยนต์ ให้กับผู้ที่ถูกขึ้นบัญชีดำติดแบล็กลิสต์นั้น หรือปลดล็อกหนี้จากเครดิตบูโรนั้น เครดิตบูโรอยากจะสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจในเรื่องดังกล่าว ดังนี้
ข้อมูลในฐานข้อมูลมิใช่ข้อมูลแบล็กลิสต์ (Blacklist) หรือเป็นข้อมูลที่แสดงความไม่น่าเชื่อถือของบุคคลใดบุคคลหนึ่งแต่อย่างใด สิ่งที่จัดเก็บตามที่กฎหมายกำหนดคือประวัติการก่อหนี้และประวัติการชำระหนี้ของบัญชีสินเชื่อที่บุคคลนั้นมีอยู่กับสมาชิกของเครดิตบูโร (ปัจจุบันเครดิตบูโรมีสมาชิกทั้งสิ้น 80 สมาชิก)
ข้อมูลของการก่อหนี้ประเภทต่างๆ รวมทั้งประวัติการชำระเงินที่ไม่มีค้างชำระหรือประวัติการค้างชำระ (ถ้ามีตามที่เกิดขึ้นจริง) จะมีการจัดเก็บตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เครดิตบูโรไม่สามารถเปลี่ยนแปลง ลบทิ้งให้ต่างไปจากความเป็นจริงได้ และไม่มีใครไปปลดล็อกอะไรกันได้ตามที่มีการโฆษณาหลอกลวง
ที่เครดิตบูโรไม่มีการจัดเก็บข้อมูลการชำระ หรือค้างชำระเกี่ยวกับสาธารณูปโภคทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น เบอร์โทรศัพท์ รายการบัญชีเงินฝาก ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า หรือข้อมูลทรัพย์สิน เงินฝากแต่อย่างใด เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้ดำเนินการจัดเก็บ ใครฝ่าฝืนจะมีโทษในทางอาญา
ข้อมูลจากเครดิตบูโรเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพิจาณาวิเคราะห์สินเชื่อหรือออกบัตรเครดิตให้กับผู้ที่มาขอสินเชื่อ และสถาบันการเงินจะนำเอาข้อมูลนี้ไปรวมพิจารณากับข้อมูลที่แสดงความสามารถในการทำรายได้ เช่น เงินเดือน อาชีพ ภาระในครอบครัว เป็นต้น การพิจารณาให้-ไม่ให้ หรืออนุมัติ-ไม่อนุมัติ เป็นสิทธิและเป็นอำนาจของสถาบันการเงิน เครดิตบูโรไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจแต่อย่างใด เครดิตบูโรขอยืนยันว่าเครดิตบูโรไม่มีอำนาจหน้าที่ในการขึ้นบัญชีดำหรือกำหนดว่าบุคคลใดติดแบล็กลิสต์ เพราะไม่มีอยู่จริงดังนั้น บุคคลหรือหน่วยงานใดที่กล่าวอ้างว่าสามารถแก้ไข หรือปลดแบล็กลิสต์เครดิตบูโรได้นั้น เป็นการกระทำที่เป็นไปไม่ได้และไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
ซึ่งการจะแก้ไขข้อมูลในเครดิตบูโรสามารถทำได้ในกรณีที่ข้อมูลนั้นไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงเท่านั้น โดยต้องมีหลักฐานชัดเจนที่พิสูจน์ได้ว่าข้อมูลไม่ถูกต้องเช่น เจ้าหนี้-ลูกหนี้ยืนยันว่าไม่ถูกต้อง ศาลมีคำพิพากษา กระบวนการตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลจะมีการยืนยันทั้งจากเจ้าของข้อมูลหรือผู้กู้ และจากสถาบันการเงินหรือผู้ให้กู้แล้วเท่านั้น
โดยสรุป “จากเหตุการณ์ดังกล่าว เครดิตบูโรจึงอยากให้ประชาชนระมัดระวัง และอย่าหลงเชื่อโดยเด็ดขาด การทำธุรกรรมทางการเงินหรือการขอสินเชื่อนั้น ควรติดต่อสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตโดยตรงจะปลอดภัยที่สุด หากผู้ยื่นขอกู้ "โปร่งใส ตั้งใจจริง ชี้แจงทุกเรื่องที่เกิดกับตัวเองได้ และทำให้มีความเชื่อถือว่าตนเองมีความสามารถในการชำระหนี้ได้แล้ว สถาบันการเงินทุกแห่งก็ต้อนรับครับ" ซึ่งเครดิตบูโรร่วมกับศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมการรณรงค์การให้ความรู้ทางการเงินและสื่อสารเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากใช้บริการ รวมทั้งรู้เท่าทันการหลอกลวงทางการเงินจากกลุ่มมิจฉาชีพ ?เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อภัยทางการเงินในรูปแบบต่างๆ” นายสุรพล กล่าวเพิ่มเติม
หากประชาชนท่านใดได้รับการโฆษณาชวนเชื่อ หรือได้รับการเสนอบริการในลักษณะดังกล่าวสามารถสอบถามหรือแจ้งข้อมูลได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) หมายเลข 1213 เพิ่มเติมได้ที่ www.1213.or.th หรือกรณีสอบถามปัญหาเรื่องเครดิตบูโรก็สามารถติดต่อได้ที่ Call Center ของเครดิตบูโร หมายเลข 0-2643-1250
ข่าวเด่น