ในที่สุด "ธนาคารพัฒนาเอเชีย" หรือ ADB ก็เป็นหน่วยงานล่าสุด ที่ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลง
โดย น.ส.ลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโส ประจำประเทศไทย ADB กล่าวว่า ADB ได้ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือร้อยละ 1.6 จากเป้าเดิมที่ร้อยละ 2.9 เนื่องจากการหดตัวของเศรษฐกิจในครึ่งปีแรก ที่ปรับตัวลดลงแรงกว่าคาดการณ์ และข้อมูลเศรฐกิจในเดือนก.ค.แสดงให้เห็นว่าภาคการผลิต การส่งออก และการนำเข้า ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก
โดยการส่งออกปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 1 ส่วนปี 2558 ยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยไว้ที่ร้อยละ 4.5 เท่าประมาณการเดิม แต่มองว่ายังเป็นการเติบโตแบบไม่เต็มศักยภาพ แต่เมื่อการลงทุนภาครัฐและเอกชนเริ่มฟื้นตัว และเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปที่คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นจะช่วยส่งผลให้การส่งออกเข้มแข็งขึ้น ขณะที่การส่งออกจะดีขึ้น โดยคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 6 - 7 โดยได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลัก และการนำเข้าจะเพิ่มขึ้นตามการลงทุนเพื่อการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลน้อยลง โดยการคาดการณ์ในครั้งนี้ ยังไม่รวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่กำลังจะออกมาในระยะต่อไป โดยมีเพียงการประเมินแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท เท่านั้น
ส่วนความเสี่ยงที่ยังต้องติดตาม ได้แก่ ความล่าช้าในการดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและหนี้ครัวเรือนของไทยที่สูงถึงร้อยละ 82 เมื่อสิ้นปี 2556 แม้จะเริ่มลดลงมาต่ำกว่าร้อยละ 80 ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา แต่อัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้ค้างชำระ 3 เดือน ที่เพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปี 2556 เป็นร้อยละ 31 ซึ่งมีความเสี่ยงว่า อาจเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบในอนาคต จะส่งผลให้แรงกดดันด้านการเงินของครัวเรือนจะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก
ส่วนอัตราเงินเฟ้อในปีนี้คาดว่าอยู่ที่ร้อยละ 2.2 และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี 2558 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.6 ตามการปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่สูงขึ้น และกระทบต่อต้นทุนการผลิต ซึ่งต้องจับตาการปฏิรูปพลังงานและภาษีของประเทศ
ซึ่งการปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจไทยของ ADB ในมุมมองจากรัฐบาล ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลไม่แปลกใจ เพราะได้รับทราบมาก่อนหน้า จากตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ มีการชี้แจงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลเตรียมที่จะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปี หรือไตรมาส 4 โดยจะเน้นการสร้างงาน สร้างรายได้
และไม่ใช่นโยบายประชานิยม ซึ่งเชื่อว่าในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า เศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้น
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะดำเนินการในเร็ว ๆ นี้ จะมีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558 รวมกับการใช้งบค้างจ่ายจากปีงบประมาณ 2557 อีกประมาณ 1 แสนล้านบาท เพื่อสนับสนุนด้านการส่งออก การจับจ่ายใช้สอยในประเทศ เพิ่มงานด้านก่อสร้าง สร้างงาน พัฒนาปรับปรุงคุณภาพสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมถึงส่งเสริมการจัดสัมมนาเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในต่างจังหวัดและสร้างรายได้ให้ประชาชนในต่างจังหวัดด้วย
นอกจากนี้ รัฐบาลจะพยายามเร่งรัดปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัย เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ โดยนายกรัฐมนตรียังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะดีขึ้นกว่าปีนี้
ข่าวเด่น