ตลอดระยะเวลา 55 ปี ที่ผ่านมา "บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด" ได้สร้างปรากฎการณ์ความตื่นเต้นให้กับธุรกิจค้าปลีกของไทยเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ ตามด้วยศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค ล่าสุด ผุดโครงการสุดหรูริมแม่น้ำเจ้าพระยา ภายใต้ชื่อ "ไอคอนสยาม" ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนก่อสร้างโครงการดังกล่าว
จากความสำเร็จของโครงการต่างๆ ดังกล่าว ส่งผลให้ บริษัท สยามพิวรรธน์ ตัดสินใจที่จะประกาศโครงการระยะยาว 5 ปี ภายใต้งบลงทุน 55,000 ล้านบาท ภายหลังจากได้รับสัญญาณดีจากต่างชาติที่มีความสนใจจะเข้ามาร่วมธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากเวตติ้งลิสของผู้ประกอบการสินค้าต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศกว่า 100 ราย ที่ติดต่อขอเข้ามาร่วมลงทุนภายในศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ และศูนย์การค้าสยามพารากอน ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า การพัฒนาธุรกิจค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยในขณะนี้ อยู่ในช่วงของการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เห็นได้จากการประกาศลงทุนโครงการใหม่จากหลายๆ บริษัท คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.1 แสนล้านบาท ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ประกอบการภาคเอกชนทั้งชาวไทยและต่างชาติ มีความมั่นใจในพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่ยังคงมีความแข็งแกร่ง แม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาจะมีปัจจัยลบเกิดขึ้นในหลายด้าน
สำหรับแนวทางการดำเนินธุรกิจของ บริษัท สยามพิวรรธน์ นับจากนี้ ยังคงยึดจุดยืนที่มั่นคงและแข็งแกร่ง ด้วยกลยุทธ์หลัก คือการเป็น "ผู้นำความคิดสร้างสรรค์ที่ล้ำสมัย" ที่ใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจของเราจนประสบความสำเร็จมาตั้งแต่เปิดบริษัท ด้วยการนำเสนอคอนเซ็ปต์แปลกใหม่ในการพัฒนาโครงการต่างๆ การค้าปลีกชนิดใหม่ๆ และคอนเซ็ปต์ไลฟ์สไตล์ล้ำยุคหลายประเภท ที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย หรือเป็นครั้งแรกในโลก
ภายใต้แผนกลยุทธ์ดังกล่าว บริษัท สยามพิวรรธน์ มีเป้าหมายที่จะให้ความสำคัญกับการเป็นผู้นำเสนอประสบการณ์ที่เหนือกว่า ล้ำกว่าแก่ผู้มาใช้บริการในโครงการ โดยที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบการพัฒนาโครงการเดิมๆ แม้ว่าโครงการที่ผ่านมาจะประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่บริษัท สยามพิวรรธน์ ก็จะยั่งมุ่งมั่นนำเสนอสิ่งที่แปลกใหม่กว่าให้เกิดขึ้นได้อยู่เสมอ เพื่อสะท้อนวิสัยทัศน์และจุดยืนในการดำเนินธุรกิจของการเป็น “ผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งการนำเสนอความแปลกใหม่ให้ชีวิต” (The Icon of Innovative Lifestyle) และพร้อมกันนี้ บริษัท สยามพิวรรธน์ ได้เปิดตัวโลโก้ใหม่ของบริษัท เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์การดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนมากขึ้น
นางชฎาทิพ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญในการชี้วัดความสำเร็จของแต่ละโครงการ ไม่ใช่เพียงแค่การคิดคอนเซปต์ที่แปลกใหม่แล้วสร้างให้สำเร็จเท่านั้น แต่อยู่ที่การบริหารโครงการนั้นๆ ให้สามารถนำเสนอประสบการณ์ที่แตกต่างและล้ำสมัย ให้แก่ลูกค้าที่มาเยี่ยมชมได้ตลอดเวลาอย่างไม่หยุดนิ่ง ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ในการช้อปปิ้ง สินค้าที่แปลกใหม่หมุนเวียนกันมาจากทุกมุมโลก นวัตกรรมการสื่อสารในรูปแบบล้ำสมัยกับลูกค้า บริการเหนือระดับที่สร้างความประทับใจ ตลอดจนกิจกรรมการตลาดที่น่าตื่นตาตื่นใจ เพื่อนำมาเป็นประสบการณ์ให้กับลูกค้า
อย่างไรก็ดี เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและแตกต่างให้กับธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอีก 5 ปีนับจากนี้ บริษัท สยามพิวรรธน์ ได้ออกมาเปิดยุทธศาสตร์สำคัญจำนวน 5 กลยุทธ์หลัก เพื่อให้ธุรกิจก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ประกอบด้วย 1.กลยุทธ์ "สร้างประสบการณ์แตกต่างที่ตรงใจ" กับธุรกิจหลัก (Core Business) ทุกโครงการ สยามพิวรรธน์ มุ่งสร้างความพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้ายุคโลกาภิวัฒน์ ซึ่งมีความรอบรู้ถึงเทรนด์ต่างๆ รอบโลก และมีความคาดหวังสูงยิ่งขึ้น สยามพิวรรธน์ จึงเน้นการค้นคว้าหาสิ่งใหม่ๆให้เกิดขึ้นในโครงการอยู่เสมอ
นอกจากนี้ ในด้านของการทำตลาดยังเน้นไปที่ความแปลกใหม่ และมีหน่วยงานเฉพาะที่ เพื่อให้การสำรวจความต้องการของลูกค้าในเชิงลึกมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมา บริษัท สยามพิวรรธน์ ได้นำเสนอกลยุทธ์ดังกล่าว ผ่านสายตาลูกค้ามาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ และล่าสุดเตรียมปรับปรุงศูนย์การค้าสยามพารากอน และสยามดิสคัฟเวอรี่ ให้มีความตื่นตาตื่นใจมากขึ้น โดยจะทยอยปรับปรุงในปลายปีนี้ หลังจากนั้นจะสร้างความตื่นตาตื่นใจด้วยโครงการ "ไอคอนสยาม" ที่จะมาพร้อม 7 สิ่งมหัศจรรย์ระดับโลกที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในประเทศไทย
2.การนำเสนอความคิดใหม่ๆ เพื่อต่อยอดความสำเร็จให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ และเพื่อร่วมกันสร้างประสบการณ์ที่ตื่นเต้นล้ำยุคอยู่เสมอ 3. การลงทุนเองในธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย เพื่อนำเสนอประสบการณ์ระดับโลก โดยมีแผนที่จะดำเนินธุรกิจค้าปลีกรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งแผนลงทุนคิดเป็นมูลค่าโครงการรวมประมาณ 3,000 ล้านบาท คือ ธุรกิจ Specialty Store 3 ถึง 4 แบรนด์ ซึ่งจะเป็น ทั้งแบรนด์แฟรนไชส์จากต่างประเทศ หรือเป็นรูปแบบที่สยามพิวรรธน์สร้างขึ้นเอง
นอกจากนี้ สยามพิวรรธน์ยังอยู่ในระหว่างการเจรจาเพื่อลงทุนนำแฟรนไชส์ภัตตาคารชื่อดังจากต่างประเทศ 2-3 ราย เข้ามาเพื่อตอบสนองลูกค้าระดับบน และนักท่องเที่ยว การลงทุนในธุรกิจใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นในโครงการต่างๆ ของสยามพิวรรธน์ โดยธุรกิจที่จะลงทุนจะนำความตื่นเต้นมาสู่วงการอย่างมาก อย่างไรก็ดี คาดว่าไไตรมาสสุดท้ายของปีนี้น่าจะได้ข้อสรุปของการลงทุนขยายธุรกิจในรูปแบบดังกล่าว
สำหรับธุรกิจค้าปลีกที่ บริษัท สยามพิวรรธน์ ทำอยู่แล้ว เช่น ร้าน Loft แฟรนไชส์ specialty store จากประเทศญี่ปุ่น ล่าสุดได้รับการต่อสัญญาและจะขยายสาขาเพิ่มเติมอีก 3 แห่ง ใน 5 ปีข้างหน้า เช่นเดียวกับร้าน The Wonder Room และร้าน The Selected ที่เปิดในสยามเซ็นเตอร์ ก็มีแผนจะขยายสาขาเพิ่มเติมในประเทศ และขยายสาขาในต่างประเทศอีกเช่นกัน
กลยุทธ์ที่ 4. จะเป็นการจับมือกับพันธมิตรระดับโลก เพื่อร่วมลงทุนทำธุรกิจประเภทต่างๆที่แปลกใหม่ให้เกิดขึ้น โดยใน 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัท สยามพิวรรธน์ ได้รับการติดต่อจากบริษัทและองค์กรชั้นนำจากต่างประเทศหลายราย เพื่อร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนทำธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ทั้งโครงการที่เกี่ยวกับความบันเทิงระดับโลก ศิลปวัฒนธรรม และธุรกิจค้าปลีกหลายๆประเภท โดย สยามพิวรรธน์ มีความตั้งใจที่จะร่วมลงทุนด้วย ซึ่งแผนการลงทุนมีมูลค่าโครงการรวมทั้งสิ้นโดยประมาณ 10,000 ล้านบาท และจะทยอยเกิดขึ้นใน 3-5 ปีข้างหน้า
สำหรับ กลยุทธ์ที่ 5. จะเป็นการปรับองค์กร เพื่อรองรับการเปิดประตูสู่อาเซียน ด้วยการปรับองค์กรและบริษัทในเครือทั้งสิ้น 15 บริษัทในเครือ ให้มีศักยภาพแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านบริหารจัดการบุคลากร การเสริมทัพผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้นำองค์กร หรือการเชิญผู้มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ ทั้งในประเทศและจากต่างประเทศมาร่วมเป็นผู้นำองค์กร
หลังจากออกมาประกาศยุทธศาสตร์ 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2558-2562 ในครั้งนี้ภายใต้งบลงทุน 55,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ,การลงทุนธุรกิจศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน มูลค่าการลงทุน 42,000 ล้านบาท , ลงทุนธุรกิจใหม่ในกลุ่มความบันเทิงและศิลปวัฒนธรรม มูลค่า 10,000 ล้านบาท , การลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ร้านอาหาร และร้านสเชียลตี้สโตร์ 3,000 ล้านบาท บริษัท สยามพิวรรธน์ มั่นใจว่าในอีก 5 ปีนับจากนี้ จะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีนี้ ที่คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2556 ที่มีรายได้เกือบ 30,000 ล้านบาท เนื่องจากครึ่งปีแรกของปีนี้ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่เกิดขึ้น
การออกมาประกาศกลยุทธ์ด้วยการสร้างศูนย์การค้าที่มีความต่างไปจากคู่แข่ง และแตกต่างจากศูนย์การค้าเดิมของตัวเองที่มีอยู่ ถือเป็นจุดแข็งที่คู่แข่งต้องทำการบ้านเพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจุบันผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงเร็ว หากตามทันธุรกิจก็ประสบความสำเร้จได้ไม่ยาก.
ข่าวเด่น