แม้รัฐบาลจะอัดฉีดเงินงบประมาณกว่า 3 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง 2-3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 ซึ่งจะตรงกับช่วงไตรมาส 4 ในปีปฎิทิน โดยเน้นการสร้างงานและเพิ่มรายได้ให้กับชาวนาที่มีรายได้น้อย
ซึ่ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เชื่อว่า มาตรการดังกล่าวจะหนุนให้เศรษฐกิจปีหน้าขยายตัวได้ในระดับ 4-5% เพราะเน้นการลงทุนใน 3 ด้าน คือ ด้านสาธารณูปโภค, ด้านโรงพยาบาล - โรงเรียน และด้านระบบขนส่ง โดยเม็ดเงินลงทุนที่จะนำมาใช้เป็นงบประมาณที่ค้างจ่ายอยู่ราว 1.69 แสนล้านบาท
ส่วนการลงทุนโครงการรถไฟฟ้า คาดว่า ปีหน้าจะสามารถดำเนินการได้ 8 ใน 10 เส้นทาง โดยจะดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจมากกว่ารัฐลงทุนเอง นอกจากนี้ รัฐบาลจะเร่งอนุมัติส่งเสริมโครงการลงทุนมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะช่วยดันจีดีพีปีหน้าโตได้ 4-5%.
สำหรับมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวนาที่มีมีรายได้น้อย เนื่องจากขณะนี้ราคาข้าวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ หรืออยู่ที่ประมาณ 8 พันบาท/เกวียน ขณะที่ต้นทุนการผลิตเมื่อรวมกับกำไรอัตราที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่ 9 พันบาท/เกวียน ทำให้ชาวนาได้รับความเดือดร้อน จึงต้องมีมาตรการช่วยเหลือเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยจะให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินให้ชาวนาที่ลงทะเบียนไว้ ซึ่งน่าจะจ่ายได้ก่อน 20 ตุลาคม นี้ ซึ่งจะเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น เฉพาะฤดูกาลนี้ฤดูกาลเดียว และไม่ใช่นโยบายประชานิยม แต่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง
ขณะที่รัฐบาลพยายามออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้สถาบันต่างประเทศ เช่น สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ "ฟิทช์ เรตติ้ง" และ "ธนาคารโลก" เชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยได้
โดยล่าสุด ฟิทช์ประกาศปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 1.2% จากเดิมที่ 2.5% เนื่องจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา การใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศ รวมทั้งการส่งออกและการนำเข้าปรับตัวลดลง แต่ก็เชื่อว่า GDP ของไทยจะฟื้นตัวขึ้นมาเติบโตได้ในอัตรา 4% ในปีหน้า
แต่ ฟิทช์ ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยไว้ที่ระดับ BBB และมีมุมมองเป็นเสถียรภาพ ซึ่งยังต้องติดตามผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่าจะมีส่วนสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่ามาตรการกระตุ้นที่ออกมาจะเป็นบวกต่อเครดิตของไทยมากกว่าลบ
ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของธนาคารโลก นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า วันที่ 6 ตุลาคมนี้ ธนาคารโลกจะประกาศปรับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้และปี 2558 ใหม่ โดยเป็นการปรับลดลง จากเดิมที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโต 3% สาเหตุจากการส่งออกการบริโภคและการลงทุนเติบโตน้อยกว่าที่คาดไว้ ซึ่งเดิมธนาคารโลกคาดว่าเมื่อมีรัฐบาลใหม่การลงทุนการบริโภคและการใช้จ่ายของภาครัฐจะเร่งตัวขึ้น แต่พบว่ายังฟื้นตัวช้า
ส่วนการที่รัฐบาลจะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมานั้น เห็นว่ามาตรการที่เน้นการลงทุนของภาครัฐเป็นแนวคิดที่ดี เพราะปัจจุบันการลงทุนของภาครัฐต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ อยู่ที่ 4 – 5% ต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่การลงทุนภาครัฐ มีสัดส่วน 8 – 9% ของจีดีพี ดังนั้นการที่ภาครัฐจะใช้ประโยชน์จากการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้เกิดการจ้างงานและประชาชนมีรายได้ ก็จะมีส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจและภาคครัวเรือนขยายตัวดีขึ้น
สำหรับปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยนั้น มาจากเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน แม้สหรัฐอเมริกาจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่สหภาพยุโรป (อียู) เศรษฐกิจยังชะลอตัว ซึ่งอาจจะกระทบต่อการขยายตัวของการส่งออก และมีผลต่อเศรษฐกิจไทยได้ เนื่องจากการส่งออกมีสัดส่วนถึง 70% ของจีดีพี
ข่าวเด่น