เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2557 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ อีไอซี (EIC) จัดสัมมนาประจำปี “EIC Conference: Thailand in Transformation”
โดย ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารพาณิชย์ กล่าวในหัวข้อ “วางหมากประเทศไทย สู่การเติบโตที่ยั่งยืน” ว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ความผันผวนทางเศรษฐกิจในช่วงผ่านมา ส่วนหนึ่งสะท้อนการที่ไทยประสบกับความท้าทายค่อนข้างมาก จากทั้งวิกฤตการเงินโลก สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ และความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นระยะ โดยความท้าทายเหล่านี้ได้บดบังศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ลดลง
ทั้งนี้ อีไอซีประเมินว่าการขาดแคลนแรงงานของไทยทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ รวมถึงการลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา อีกทั้งผลิตภาพที่ชะลอลงค่อนข้างมาก จะทำให้ศักยภาพในการเติบโตของประเทศไทยในระยะกลางเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5% เท่านั้น โดยอีไอซีเสนอ 3 แนวทางเพื่อใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของประเทศไทยในการยกระดับศักยภาพในการเติบโต คือ
1.ขับเคลื่อนประเทศไปสู่ห่วงโซ่การผลิตที่ใช้นวัตกรรมที่สูงขึ้น โดยทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับอุปสงค์ในตลาดโลก และการกระตุ้นให้ภาคเอกชนของไทยสนใจลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา เช่น การสร้างศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ผลิตไทยในการพัฒนานวัตกรรม เพื่อให้ไทยสามารถขยับไปสู่ห่วงโซ่การผลิตที่สูงขึ้น
2.แสวงหาตลาดผู้บริโภคใหม่ๆ โดยการเสริมสร้างศักยภาพให้เอสเอ็มอีไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ตัวอย่างเช่น การปรับโครงสร้างบีโอไอ เพื่อให้บริการที่ครอบคลุมการทำธุรกิจในต่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบ จะเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับธุรกิจไทยในการบุกเบิกตลาดที่มีโอกาสทางธุรกิจสูง เช่น ตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และ เวียดนาม) และกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทยและนักท่องเที่ยว ซึ่งมีความต้องการสินค้าและบริการที่มีความซับซ้อนมากขึ้น
3.ปรับตัวให้เข้ากับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป ซึ่งธุรกิจควรปรับกลยุทธ์และโมเดลธุรกิจ เพื่อรองรับความต้องการที่แตกต่างของผู้บริโภคจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว และบทบาทที่เพิ่มขึ้นของกลุ่ม Gen Y (ผู้ที่เกิดในช่วงปี 1981-2000) ซึ่งปัจจุบันคิดเป็น 28% ของประชากร ใกล้เคียงกับกลุ่มผู้สูงอายุ และมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่แตกต่างชัดเจนจากประชากรกลุ่มอื่นๆ
ด้าน ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวในหัวข้อ “ปรับมุมมอง ส่องกลยุทธ์ธุรกิจยุคปฏิรูป” ว่า สิ่งที่ประเทศไทยต้องมีการปรับตัว คือ ยุทธศาสตร์เรื่องคน ที่ต้องมีการปฏิรูป ทั้งระบบ เพราะประเทศไทยไม่มีการพัฒนาในเรื่องของคนมานานมากแล้ว และที่ผ่านมาโครงสร้างการศึกษาของไทยไม่สามารถผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดได้ ทั้งที่งบประมาณในส่วนการศึกษามีค่อนข้างมาก ดังนั้นการปรับปรุงแก้ไขเรื่องคนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
ขณะเดียวกันประเทศไทยยังยึดติดกับเงินลงทุนจากต่างประเทศ หรือ FDI มากเกินไป จนกลายเป็นการเสพติด FDI ไปแล้ว ซึ่งหากถึงจุดที่มีการเปลี่ยนแปลงก็จะลำบาก ไทยจึงควรจะต้องไม่พยายามเสพติด FDI และหันมาพัฒนาการลงทุนในประเทศแทน ซึ่งไทยอาจจะมีระยะเวลา 5 ปีหลังจากนี้ในการปรับยุทธศาสตร์ เพื่อไม่ให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่เริ่มพัฒนาตามมามากขึ้นแล้ว
ด้าน นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โอกาสสำหรับประเทศไทยในภูมิภาคยังมองว่ามีอีกมาก แต่สิ่งที่สำคัญคือเรื่องการปฏิรูป ที่ถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นมากสำหรับประเทศไทย เพื่อจะสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นในภูมิภาคที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเติบโตได้ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมียนมาร์ที่เติบโตได้ดี
ทั้งนี้เรื่องจำเป็นที่ประเทศไทยต้องเร่งปฏิรูป คือ เรื่องแรงงาน ที่แม้ว่ายังไม่เป็นปัญหาในขณะนี้ แต่ก็ต้องมีการปฏิรูป โดยเฉพาะในภาคการเกษตรของไทยยังคงพึ่งพาแรงงานในสัดส่วนที่มาก หากเทียบกับประเทศอื่น เช่น อุตสาหกรรมอ้อยในประเทศออสเตรเลีย ที่จะใช้แรงงานคนเพียง 6 คนต่อผลผลิต 750 ตันต่อวัน ขณะที่ประเทศไทยในฐานะที่ส่งออกอ้อยเป็นอันดับ 2 ของโลก ต้องใช้แรงงานคน 620 คนในการเก็บเกี่ยว ซึ่งเรื่องของการแก้ไขปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือของภาครัฐ และต้องใช้ระยะเวลาอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ด้าน นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องแรงงาน ที่จะเป็นอุปสรรคต่อประเทศไทยในอนาคต เพราะประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตบุคคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาดได้ ซึ่งหากประเทศไทยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องคนในระยะเวลา 5 –10ปี จากนี้ได้ อาจจะทำให้ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นในภูมิภาคได้
ขณะที่ นางศุภลักษณ์ อัมพุช รองประธานกรรมการ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยยังขาดแรงกระตุ้นที่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการพัฒนาประเทศ เมื่อเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาค ขณะที่ประเทศอื่นสามารถสร้างแรงจูงใจให้เกิดการพัฒนาไปแล้ว เช่น ประเทศเกาหลีใต้ที่มีแรงกระตุ้นจากการต้องการชนะญี่ปุ่น จนในที่สุดสามารถพัฒนาภาคเอกชนที่นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจได้เช่นในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรจะต้องมีการจัดกลุ่มภาคธุรกิจอย่างชัดเจน เพื่อที่จะนำไปสู่การพัฒนาได้ตรงตามกลุ่ม เพื่อจะสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ข่าวเด่น