จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เร่งรีบ และต้องการความสะดวกสบาย ประกอบกับผู้ประกอบการมีการพัฒนาอาหารพร้อมรับประทาน (Ready to Eat ) ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดพร้อมรับประทานมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยที่ปีละประมาณ 10% ซึ่งจากแนวโน้มที่ดีดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันตลาดอาหารพร้อมรับประทานมีมูลค่าสูงถึง 6,300 ล้านบาท
แนวโน้มที่ดีดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มเห็นโอกาสทางธุรกิจ ด้วยการเข้ามาเปิดตัวกลุ่มสินค้าอาหารพร้อมรับประทานเข้ามาทำตลาดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริษัทในเครือบุญรอดบริวเวอรี่,บริษัท โกลบอล ฟู้ด และบริษัท โออิชิ กรุ๊ป จากสินค้าใหม่ที่มีเข้ามาทำตลาดมากขึ้น คาดว่าจะส่งผลให้ภาพรวมตลาดอาหารพร้อมรับประทานในช่วงไตรมาส 4 นี้ มีความคึกคักกว่าทุกไตรมาสที่ผ่านมาอย่างแน่นอน
นายธีระ วงศ์พัฒนาสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฟร์ ฟู้ด แคปปิตอล จำกัด ในเครือบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า จากแนวโน้มของตลาดอาหารพร้อมรับประทานที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง บริษัทจึงเล็งเห็นโอกาสในการเข้ามาทำตลาดกลุ่มสินค้าดังกล่าว ด้วยการเปิดตัวอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานภายใต้แบรนด์ “STAR CHEFS” เข้ามาทำตลาด ซึ่งเบื้องต้นจะนำสินค้า 2 รายการเข้ามาทำตลาด เพื่อเป็นการทดลองผลการตอบรับของผู้ประโภค คือ แกงกะหรี่ญี่ปุ่น และแกงกะหรี่ไก่ ขนาด 200 กรัม
ช่วงแรกของการทำตลาด บริษัท ไฟร์ ฟู้ด แคปิตอล จะใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท จากทั้งหมด 50 ล้านบาท เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์สินค้าในช่วงปลายปีนี้ พร้อมกันนี้ยังจะมีการจัดกิจกรรม ณ จุดขาย ควบคู่ไปกับการแจกสินค้าตัวอย่าง รวมไปถึงการสร้างการรับรู้ในแบรนด์สินค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์
นอกจากนี้ยังได้มีการเชิญเชฟชาวญี่ปุ่นระดับโลกอย่าง "ยาสุจิ โมริซุมิ" เจ้าของรางวัลทีวีแชมเปี้ยนส์ ระดับมิชลินสตาร์ 2 ปีซ้อน มาเป็นผู้ร่วมสร้างแบรนด์และสาธิตการทำอาหารญี่ปุ่น เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้สัมผัสทั้งผลิตภัณฑ์อย่างใกล้ชิด ก่อนที่จะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารญี่ปุ่นเข้ามาทำตลาดเพิ่มอีกประมาณ 2-3 รายการ ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารประเภทอื่นๆ เข้ามาทำตลาดอีกอย่างน้อย 5 รายการในปี 2558 เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายระดับบนและคนทำงานรุ่นใหม่ที่ต้องการสินค้าที่ดีมีคุณภาพและคำนึงถึงสุขภาพ
หลังจากเริ่มทดลองทำตลาดมาตั้งแต่ช่วงเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ด้วยการนำสินค้าเข้าทำตลาดผ่านช่องทางซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ เช่น วิลล่า มาร์เก็ต, แม็กซ์ แวลู, โฮม เฟรช มาร์ท, กูร์เมต์ มาร์เก็ต, เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และมาร์เก็ต เพลส พบว่าได้ผลการตอบรับเป็นที่น่าพอใจ ส่งผลให้บริษัท ไฟร์ ฟู้ด แคปิตอล มีแผนที่จะขยายช่องทางใหม่ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย
นายธีระกล่าวว่า นอกจากจะเน้นทำตลาดอาหารพร้อมรับประทานในประเทศแล้ว บริษัทยังมีแผนที่จะส่งออกสินค้าดังกล่าวไปทำตลาดในต่างประเทศอีกด้วย โดยเบื้องต้นกำหนดสัดส่วนจำหน่ายในประเทศประมาณ 70% ส่งออก 30% หลังจากนั้น 5 ปีจะปรับสัดส่วนเป็น 50:50 ขณะที่ภาพรวมยอดขายกลุ่มสินค้าอาหารพร้อมรับประทานภายใต้แบรนด์ “STAR CHEFS” สิ้นปีนี้คาดว่าจะมียอดขายอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 250 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้นไม่ต่ำกว่า 30% ในปี 2558 หลังจากนั้นอีก 5 ปีหรือประมาณปี 2562 คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท
บริษัท โกลบอล ฟู้ด ถือเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่เล็งเห็นโอกาสของตลาดอาหารพร้อมรับประทานที่มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานในกลุ่มไส้กรอก แฮม และเบคอน เข้ามาทำตลาด เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มธุรกิจเครื่องปรุงอาหาร
นายอาคม พลานุเวช กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลโบ ฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงอาหารตรา “โลโบ” (LOBO) กล่าวว่า บริษัทได้เตรียมงบกว่า 200 ล้านบาท ในการขยายโรงงานภายในโรงงานที่ อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี พร้อมกับลงทุนเครื่องจักรใหม่เพื่อผลิตอาหารพร้อมรับประทานเพื่อส่งออก โดยในส่วนของเฟสแรกคาดว่าจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 200 ตัน หรือประมาณ 2 แสนกิโลกรัมต่อปี
ในส่วนของแนวทางการดำเนินงานในปี 2558 บริษัท โกลบอล ฟู้ด มีแผนที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เข้ามาทำตลาดเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5 รายการ จากปัจจุบันมีสินค้าทั้งหมดเข้าทำตลาดมากกว่า 100 รายการ เพื่อให้กลุ่มสินค้าเครื่องปรุงมีความครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรุงชนิดน้ำและผงปรุงอาหารคาว อาหารหวาน แป้ง เกล็ดขนมปัง น้ำจิ้ม หรือซอสต่างๆ
สำหรับสินค้าใหม่ในกลุ่มแปรรูปเนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอก แฮม และเบคอน รวมไปถึงซอสญี่ปุ่น ซึ่งจะเริ่มลงทุนปีนี้ คาดว่าจะสร้างยอดขายรวมให้กับปี 2558 ให้เพิ่มขึ้นจากปกติไม่ต่ำ 10% ขณะที่ภาพรวมยอดขายในสิ้นปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1,450 ล้านบาท เติบโตจากปี 2556 อยู่ที่ประมาณ 11% แบ่งเป็นรายได้ในประเทศและส่งออกในสัดส่วนเท่ากันคือ 50:50 โดยในส่วนของตลาดส่งออกปัจจุบัน มีตลาดหลักในการส่งออกอยู่ที่สหรัฐอเมริกา มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ประมาณ 35% อีกประมาณ 35% มาจากกลุ่มประเทศยุโรป และอีกประมาณ 7-8% มาจากกลุ่มประเทศในอาเซียน ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 22-23% มาจากกลุ่มประเทศอื่นๆ
นายอาคมกล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขายให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ บริษัทได้ใช้งบประมาณ 70 ล้านบาท เพื่อทำกิจกรรมการตลาดและโฆษณาประชาสัมพันธ์ในทุกรูปแบบ ซึ่งในส่วนของปีนี้บริษัทได้จัดกิจกรรมพิเศษเพื่อฉลองครบรอบ 40 ปีของการดำเนินธุรกิจ ด้วยการจัดกิจกรรมพิเศษ 2 กิจกรรมใหญ่ คือ การแข่งขันวิ่งมินิมาราธอน “โกลโบ ฟู้ดส์ 40 ปี มินิ มาราธอน” และการมอบทุนการศึกษา “โกลโบ ฟู้ดส์ 40 ปี 40 ทุน อาหารเพื่อชีวิต คิดเพื่อเยาวชน” ทุนละ 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 2 ล้านบาท
ด้าน นายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป กล่าวว่า หลังจากบริษัทได้ทดลองผลิตสินค้ากลุ่มอาหารพร้อมรับประทานเข้ามาทำตลาดเมื่อช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้บริษัทพบจุดอ่อนและความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อนำมาปรับใช้กับการทำตลาดอาหารพร้อมรับประทานในปีนี้ซึ่งจะหันมาทำตลาดอย่างจริงจังมากขึ้น
กลยุทธ์ที่บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จะนำมาใช้ เพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาดอาหารพร้อมรับประทานในครั้งนี้ จะเน้นไปที่การผลิตสินค้าให้มีความหลากหลาย ด้วยการเปิดตัวสินค้าน้องใหม่ภายใต้แบรนด์ “โออิชิ เทรนดี้” ซึ่งจะเป็นกลุ่มสินค้าแซนวิส เข้ามาทำตลาดในช่องทางเทสโก้ โลตัส หลังจากก่อนหน้านี้ได้ส่งแบรนด์ “เบรคแอนด์ฟาสต์ แซนด์วิช” เข้าทำตลาดในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นมาแล้ว จำนวน 3 รสชาติ คือ โออิชิแซนวิช ไส้แฮมชีส ,โออิชิ แซนวิช ไส้ทูน่าสเปรด และโออิชิ แซนวิช ไส้ปูอัดอลาสก้า และยำสาหร่าย จำหน่ายในราคาชิ้นละ 24 บาท
ปัจจุบันบริษัท โออิชิ กรุ๊ป มีอาหารโฟรเซ่น 4 แบรนด์ ประกอบด้วย โออิชิ เกี๊ยวซ่า ในส่วนของแช่เย็นมี 1 รสชาติ คือ ไส้หมู เน้นจำหน่ายเฉพาะที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ขณะที่โออิชิ เกี๊ยวซ่า แช่แข็ง มี 6 รสชาติ คือไส้หมู ไส้ไก่ ไส้กุ้งทรงเครื่อง ไส้หมูผักโขมขีส ไส้หมูสาหร่าย และไส้หมูทาโกะยากิ จำหน่ายที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำทั่วไปและร้านอาหารญี่ปุ่นชั้นนำในเครือโออิชิ
อีกหนึ่งแบรนด์ คือ โออิชิ คานิ หรือปูอัด มี 2 แบบ คือ โออิชิ ปูอัดคามาโบโกะ และโออิชิ ปูอัดอลาสก้า จำหน่ายที่ร้านอาหารญี่ปุ่นชั้นนำในเครือโออิชิ และซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ส่วนแบรนด์โออิชิ เบรกแอนด์ฟาสต์ แซนวิช มี 4 รสชาติ คือ ไส้แฮมชีส ไส้แฮมไข่ ไส้ทูน่าสเปรด และไส้ปูอัดอลาสก้า-สาหร่ายญี่ปุ่น จำหน่ายที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น
หลังจากออกมารุกธุรกิจกลุ่มโฟรเซ่นฟู้ดมากขึ้น บริษัท โออิชิ กรุ๊ป คาดว่าสิ้นปี 2558 จะมีรายได้จากกลุ่มธุรกิจดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 800 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 3,000 ล้านบาท ในอีก 4 ปีนับจากนี้ ซึ่งในมูลค่าดังกล่าวประมาณ 60-70% เป็นรายได้ที่มาจากต่างประเทศ เนื่องจากโออิชิ กรุ๊ป มีแผนที่จะเปิดขายคิออส เพื่อจำหน่ายเกี๊ยวซ่าเพิ่มเติมนับตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไป
ความคึกคักของกลุ่มธุรกิจอาหารพร้อมรับประทานที่เกิดขึ้นดังกล่าว คาดว่านับจากนี้ในแต่ละปี ตลาดรวมอาหารพร้อมรับประทานน่าจะมีอัตรากรเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% อย่างแน่นอน เพราะปัจจุบันผู้บริโภคเน้นความสะดวก สะอาด และอร่อย ซึ่งผู้ประกอบการในปัจจุบันสามารถพัฒนาสินค้าได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคพอสมควร
ข่าวเด่น