การแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลายังคงขยายวงกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงขนาดที่องค์การอนามัยโลก ได้ออกมาเรียกร้องให้ประเทศเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เพิ่มมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของอีโบลา และยังเตือนว่า ทั่วโลกมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาด
ซึ่งปัจจุบันมีผู้ที่ได้รับเชื้อและเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสอีโบลาแล้วมากกว่า 4,000 ศพใน 7 ประเทศ นับตั้งแต่การแพร่ระบาดครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของไวรัสนี้เริ่มขึ้นในแอฟริกาตะวันตกช่วงต้นปี
สำหรับการรับมือของภาคธุรกิจการท่องเที่ยวไทย นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า ขณะนี้ภาคธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการนำเที่ยวตลาดต่างชาติ (อินบาวด์) กำลังติดตามข่าวการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบล่าอย่างใกล้ชิด ยอมรับว่า เป็นห่วงและมีความกังวล เพราะเป็นปัจจัยที่จะมีผลกระทบรุนแรงต่อภาคการท่องเที่ยวโดยตรง หากไทยเป็นพื้นที่มีการพบการติดเชื้อ แม้จะมีผู้ป่วยเพียงรายเดียว
ทั้งนี้ เมื่อประมาณปี 2546 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยก็เคยได้รับผลกระทบหนัก กับการระบาดของโรคซาร์สที่มีศูนย์กลางโดยตรงที่ทวีปเอเชีย ทำให้เกิดความเสียหายในเชิงรายได้ เพราะนักท่องเที่ยวอาจหลีกเลี่ยงหรืองดเดินทางเข้ามาในประเทศ
ดังนั้น ในขณะที่ไทยและทวีปเอเชียยังไม่เกิดการระบาดดังกล่าว จึงต้องการให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีมาตรการคัดกรองนักท่องเที่ยวแบบเข้มข้น โดยทำการตรวจตราอย่างละเอียดในทุกด่านขาเข้า ไม่ว่าจะเป็นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ภูเก็ต, เชียงใหม่ และอื่นๆ ซึ่งเป็นสนามบินนานาชาติ และต้องดำเนินการด้วยความละเอียด
ไม่ใช่เฉพาะการตรวจตราจากผู้เดินทางมาจากทวีปแอฟริกาเท่านั้น เพราะมีโอกาสที่นักท่องเที่ยวอาจจะมีการเดินทางผ่านประเทศที่ 2 ก่อนจะมาถึงจุดหมายสุดท้ายที่ไทย
แต่ในการดำเนินมาตรการดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการเป็นการภายใน โดยไม่ต้องทำการประกาศหรือประชาสัมพันธ์มาก เพราะอาจทำให้ต่างชาติเกิดความเข้าใจผิดว่า ไทยกำลังกีดกันหรือหวั่นวิตกเกินความจำเป็น
ด้าน นายรณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายการเงินและการบริหาร บริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่า จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา กล่าวว่า โรงแรมได้วางมาตรการในเชิงป้องกันและเฝ้าระวังไว้พร้อมแล้ว โดยนำบทเรียนในเชิงปฏิบัติมาจากอดีต ที่เคยมีการระบาดของโรคซาร์สและไข้หวัดนก ซึ่งทำให้ทุกโรงแรมในเครือต้องประสานการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด และเพิ่มระบบสุขอนามัยต่างๆ มากขึ้น รวมถึงการให้การอบรมพนักงานในการเฝ้าสังเกตแขกที่มาเข้าพัก ซึ่งจะเป็นการช่วยตรวจตราและคัดกรองระดับหนึ่ง
ผลกระทบจากการระบาดของเชื้ออีโบล่ายังไม่เกิดขึ้นกับธุรกิจในไทยโดยตรง แต่หากเกิดการระบาด ยังน่ากังวลน้อยกว่าโรคซาร์ส ที่เป็นการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้ง่ายกว่า
ข่าวเด่น