ชาวสวนยาง ลุ้นที่ ประชุมกนย. พรุ่งนี้ เคาะจ่ายเงินอุดหนุนยางไร่ละ1 พัน ด้านคลังยินดีช่วยรับมีเงินพร้อม ประชุมบอร์ด ธ.ก.ส. เช็คสภาพคล่องส่วนเกินยังเพียงพออุ้ม ล่าสุดเตรียมสินเชื่อโค่นยางทำอาชีพอื่นอีก 1 หมื่นล้านบาท จากก่อนหน้านี้ อัดสินเชื่อผู้ประกอบการแปรรูปยาง 1.5 หมื่นล้านบาท ยอดเบิกอืดแค่ 400-500 ล้านบาท ด้านออมสิน แจงพร้อมช่วยนโยบายรัฐ ขณะที่ล่าสุดปล่อยกู้ไปแล้ว 9 พันล้านบาท
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เปิดถึง แนวคิดของนายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะช่วยยางไร่ละ1 พันบาท ในลักษณะเดียวกับการช่วยชาวนาว่า คงต้องรอผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ในวันพรุ่งนี้ว่าสรุปแล้วจะให้ช่วยอย่างไร ซึ่งในส่วนของกระทรวงการคลังและธ.ก.ส.ยินดีให้ความช่วยเหลือ และมีเงินพร้อม
ด้านนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ขณะนี้ กำลังให้ฝ่ายปฏิบัติการไปดูสภาพคล่องของธ.ก.ส.ว่ายังมีเหลือที่จะสามารถนำมาช่วยยางตามนโยบายของรัฐบาลเท่าไหร่ โดยธ.ก.ส.เองเป็นสถาบันการเงินที่ต้องช่วยเหลือด้านการเงินให้กับเกษตรกรตามนโยบายรัฐอยู่แล้ว ซึ่งยังต้องรอความชัดเจนการประชุมกนย. พรุ่งนี้
“หากเป็นนโยบายของรัฐที่มีมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) และรัฐจะจัดสรรเงินชดเชยทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ให้ธ.ก.ส.ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ปัจจุบันธ.ก.ส. มีสภาพคล่องส่วนเกิน 2 แสนล้านบาท นำมาใช้จ่ายเงินอุดหนุนชาวนาไร่ละ 1พันบาท วงเงินทั้งสิ้น 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังเหลือเงินเพียงพอช่วยเหลือเกษตร”
นายลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า ในเบื้องต้นมาตรกรดูแลยาง มี 3 แนวทาง สำหรับแนวทางแรก กรณีเงินกู้ 1.5 หมื่นล้านบาทที่ธ.ก.ส.ปล่อยกู้สหกรณ์ไปซื้อยางนั้น ขณะนี้ได้มีการอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 5พันล้านบาท แต่มีสหกรณ์เบิกไปใช้เพียง 400-500 ล้านบาท ซึ่งการเบิกเงินไปใช้นั้นขึ้นอยู่กับทางสหกรณ์ เพราะสหกรณ์ต้องรับความราคายางที่จะไปรับซื้อเอง ก็ต้องดูว่าจะเร่งรัดอย่างไรต่อไป ส่วนแนวทางที่ 2 จ่ายเงินอุดหนุนช่วยยางไร่ละ1พันบาท ในลักษณะเดียวกับการช่วยชาวนานั้น จะคุ้มค่าหรือไม่
และแนวทางที่ 3 กรณีที่เกษตรกรผู้นำชุมชน เสนอกนย. ให้มีการปลูกยางผสมผสานกิจกรรมการเกษตรอื่นๆ เพื่อลดพื้นที่การปลูกยาง และสร้างรายได้ระยะยาวให้คุ้มค่าการลงทุน ซึ่งจะมีการให้สินเชื่อระยะยาวจากธ.ก.ส. เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตด้านครัวเรือน ซึ่งจะมีมาตรการลดพื้นที่ปลูกยาง ด้วยการสนับสนุนให้ชาวสวนยางโค่นยางจากไร่ละ 70 ต้นเหลือ 30 ต้น และให้เกษตรกรมากู้เงินจากธ.ก.ส.ไปลงทุนทำอาชีพอื่น ซึ่งคาดว่าจะใช้วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท โดยธ.ก.ส.จะรอผลการประชุมจากกนย.ว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร รวมถึงจะมีมาตรการอื่นๆ ออกมาให้ธ.ก.ส.ดำเนินการอะไรบ้าง
แหล่งข่าวจากธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะให้ธนาคารออมสินเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการยางพาราเพิ่มเติมหรือไม่ จากเดิมทางรัฐบาลให้ออมสินปล่อยกู้ผู้ประกอบการแปรรูปยางพาราปลายน้ำ 1.5 หมื่นล้านบาท
ส่วนเกษตรรายย่อยนั้น ทางธ.ก.ส.เป็นผู้ดูแลปล่อยกู้ ส่วนที่ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรองนายกรัฐมนตรีอยู่ระหว่างพิจารณาช่วยเหลือเพิ่มเติม คือผู้ประกอบการกลางน้ำ เช่นผู้ประกอบการที่นำยางมารมควัน ซึ่งยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือ วงเงินในการปล่อยกู้เบื้องต้นอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท
“ ออมสินพร้อมให้ความช่วยเหลือตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งสภาพคล่องของออมสิน มีเพียงพอ แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่า ในส่วนนี้ทางรัฐบาลจะให้ออมสิน หรือทางสถาบันการเงินอื่นๆเข้าไปช่วยเหลือ สำหรับโครงการปล่อยกู้ผู้ประกอบการแปรรูปยางพารา 1.5 หมื่นล้านบาท ล่าสุด มีลูกค้ามาลงทะเบียนปล่อยกู้แล้ว 7 ราย วงเงิน 6 พันล้านบาท และมีมายื่นความจำนง แต่ยังไม่ได้ลงทะเบียนอีก 2 ราย เป็นวงเงินรวม 9 พันล้านบาท แต่ยังไม่ได้อนุมัติ”
ข่าวเด่น