พลัส พร็อพเพอร์ตี้ เผยผลการสำรวจที่อยู่อาศัยประเภทห้องชุดหรือคอนโดมิเนียมตั้งแต่ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ทำขึ้นมาเพื่อตอบสนองการอยู่อาศัยจริง ขนาดของห้องคือ 2 ห้องนอนขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาเมื่อระบบขนส่งมวลชนถูกพัฒนาส่งผลให้ห้องชุดขนาดสตูดิโอและ 1 ห้องนอนเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากยอดขายห้องชุดรีเซลของพลัสพบว่า 2 ห้องนอนมียอดขายเพิ่มขึ้น จาก 22% ในปีก่อน เป็น 25% ในปัจจุบัน สะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยคาดว่าในอนาคตผู้ประกอบการจะหันมาทำตลาดขนาด 2 ห้องนอนในสัดส่วนที่มากขึ้นโดยเริ่มที่ตลาดบน
นายภูมิภักดิ์ จุลมณีโชติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและจัดการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เปิดเผยว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คอนโดมิเนียมเข้ามามีบทบาทกับการอยู่อาศัยของคนกรุงเทพฯ เป็นอย่างมาก ปัจจัยหลักคือการคมนาคมที่สะดวกขึ้น โดยเฉพาะรถไฟฟ้า ซึ่งราคาของคอนโดมิเนียมแปรผกผันกับระยะห่างจากจุดศูนย์กลางของกรุงเทพฯ และแปรผันตรงกับขนาดของห้องชุด กล่าวคือยิ่งห้องชุดมีขนาดใหญ่และอยู่ใกล้เมืองมากเท่าไหร่ ราคาของห้องชุดก็จะสูงมากขึ้น
“หากย้อนไปในช่วงก่อนและหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง คอนโดมิเนียมสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองกับการอยู่อาศัยจริง ขนาดข้องห้องชุดเป็น 2 ห้องนอนขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่ ถัดมาคือช่วงที่มีรถไฟฟ้าใช้ในปี พ.ศ. 2542 เศรษฐกิจเริ่มพลิกฟื้น โครงการที่เคยหยุดสร้างในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ก็เริ่มมีการก่อสร้างต่อจนสามารถส่งมอบแล้วเสร็จ ต่อมาในช่วงที่การเดินทางโดยรถไฟฟ้ามีการใช้กันอย่างแพร่หลายในปี พ.ศ 2547 การพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้ามีมากขึ้น รูปแบบของการอยู่อาศัยปรับเปลี่ยนให้เกิดความคล่องตัวกับคนที่ทำงานในเมืองมากขึ้น โดยวัตถุประสงค์หลักของผู้บริโภคคือการมีที่อยู่อาศัยใกล้ที่ทำงานและเดินทางสะดวก จึงทำให้รูปแบบของการการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมมีการเพิ่มขนาดของห้องชุดขนาด 1 ห้องนอนมากขึ้น ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับช่วงปี พ.ศ. 2552 เมื่อกระแสการอยู่อาศัยในคอนโดมีเนียมได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ประกอบกับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่นิยมแยกมาอยู่ลำพัง เพื่อแลกกับการเดินทางที่สะดวกขึ้นในการทำงาน ส่งผลให้ผู้ประกอบการพัฒนาห้องชุดขนาดเล็กประเภทสตูดิโอและ 1 ห้องนอนมากขึ้นเป็นลำดับ และในปัจจุบันปี พ.ศ 2557 การพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมได้เน้นไปที่ห้องชุดขนาด 1 ห้องนอน และขนาดห้องก็เล็กลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้บริโภคในกลุ่มที่มีรายได้ระดับปานกลางสามารถเป็นเจ้าของได้ นอกจากนี้การลงทุนในคอนโดมิเนียมขนาด 1 ห้องนอนก็ได้รับความนิยมสูง เพราะปล่อยเช่าได้ง่ายกว่า เนื่องจากงบประมาณของชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย (EXPAT) นั้นลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง โดยชาวญี่ปุ่นเป็นชาวต่างชาติที่เช่าอยู่อาศัยในคอนโดมีเนียมมากที่สุด ซึ่งงบประมาณส่วนใหญ่จะเพียงพอสำหรับการเช่าห้องขนาด 1 ห้องนอนมากกว่า 2 ห้องนอน จึงทำให้โอกาสที่เราจะหาห้องชุดขนาด 2 ห้องนอนหรือใหญ่กว่าในโครงการใหม่นั้นมีน้อยมาก”
ในทางการกลับกัน พบว่าห้องชุดขนาด 2 ห้องนอนขึ้นไปกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดในปัจจุบัน โดยความต้องการนี้มาจากผู้ที่ซื้อคอนโดมีเนียมขนาด 1 ห้องนอน เมื่อ 5-10 ปีที่แล้ว ได้มีการขยายครอบครัว จึงต้องการพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยจริงมากขึ้น ดังนั้นสามารถคาดการณ์ได้ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ความต้องการห้องชุดขนาดใหญ่ในคอนโดมีเนียมจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะปัจจุบันการพัฒนาโครงการใหม่ยังเน้นในการสร้างห้องชุดประเภทสตูดิโอหรือ 1 ห้องนอนเป็นหลัก เช่นเดียวกับคอนโดมิเนียมรอบนอกกรุงเทพฯ ที่จะเริ่มเห็นความต้องการของห้องชุดขนาด 2 ห้องนอนมีมากขึ้นในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ ซึ่งสอดคล้องกับยอดขายห้องชุดรีเซลที่พลัส พร็อพเพอร์ตี้ดูแล พบว่าขนาด 2 ห้องนอนมียอดขายเพิ่มขึ้น โดยขยับจาก 22% ในปีก่อน เป็น 25% ในปัจจุบัน ทำให้คาดการณ์ได้ว่าห้องชุดขนาด 2 ห้องนอนจะมีความต้องการเพิ่มขึ้น
“สิ่งที่เล็งเห็นได้ขณะนี้คือผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาห้องชุดขนาดเล็กเป็นหลักเนื่องจากสามารถขายได้ง่ายกว่า ในทางกลับกันคอนโดมิเนียมประเภท 2 ห้องนอนที่มีอุปทานน้อยในตลาด แต่อุปสงค์กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ส่งผลให้ราคา ขยับขึ้นตามความต้องการของตลาด จึงเป็นโอกาสดีของนักลงทุนที่จะลงทุนในคอนโดมิเนียมประเภท 2 ห้องนอน และในเวลาอันใกล้นี้คาดว่าน่าจะมีการพัฒนาห้องชุดขนาด 2 ห้องนอนในสัดส่วนที่มากขึ้น โดยเริ่มที่ตลาดบนก่อน” นายภูมิภักดิ์ กล่าว
ข่าวเด่น