ภาวะการณ์ในปัจจุบันที่กำลังซื้อของประชาชนที่อยู่ในภาวะซบเซา ซึ่งมีจากหลายสาเหตุทั้งความเชื่อมั่นที่ชะลอตัว หนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจทำให้คนชะลอการใช้จ่าย สถานการณ์ดังกล่าว ยอมส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าของโรงงานต่างๆ และในที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ดังนั้น "กระทรวงพาณิชย์" ในฐานะที่ดูแลเรื่องราคาสินค้า จึงจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน ซึ่ง น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ ว่า ได้มอบหมายให้แต่ละกรมไปพิจารณาว่า จะทำอะไรเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน
เพื่อนำมาจัดทำเป็นแพ็กเกจของขวัญปีใหม่ในนามกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป้าหมายจะเน้นการลดค่าครองชีพ ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ และการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเป็นหลัก โดยทุกกรมต้องส่งรายละเอียดภายในวันที่ 24 ต.ค.นี้ ก่อนที่จะเสนอให้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ พิจารณาต่อไป
โดยสินค้าที่เน้นจะเป็นสินค้าที่ประชาชนนิยมใช้สอยมากในชีวิตประจำวัน โดยจะร่วมมือกับผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ต่างๆ ในการลดราคา รวมถึงการร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าและร้านค้าต่างๆ ในการจัดมหกรรมลดราคาพร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป จนถึงเดือนม.ค.2558
การบริโภคในประเทศที่ชะลอตัว ยังสะท้อนไปยังดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนก.ย.2557 ที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดย นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยเดือน ก.ย.2557 อยู่ที่ระดับ 86.1 ลดลงจาก 88.7 ในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2
เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจซบเซา จากการบริโภคในประเทศที่ชะลอตัว ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยง ส่งผลให้การส่งออกของไทยลดลงตามไปด้วย
โดยเฉพาะการส่งออกที่ชะลอได้ฉุดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย (จีดีพี) มาก ทำให้ปีนี้ทั้งปีโอกาสที่จะเห็นจีดีพีโตได้ 2% คงเป็นไปได้ยาก ซึ่งคาดว่า จีดีพีจะโตได้ 1.7-1.8% เพราะการลงทุนจากภาครัฐยังไม่มีความชัดเจน
ส่วนช่วงที่เหลือของปีนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะมีมาตรการผลักดันนโยบายต่างๆ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยเพียงใด เช่น การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 2558 ที่เชื่อว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น การเจรจาการค้าแบบทวิภาคี หรือการค้าชายแดนที่ยังขยายตัวได้ดี ซึ่งจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้เป็นหลัก โดยเฉพาะการสนับสนุนให้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ถือว่ารัฐบาลเดินทางถูกทางแล้ว แต่ควรเร่งรัดขั้นตอนออกกฎหมายรองรับ การจัดหาพื้นที่และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเร็ว รวมถึงมีมาตรการรองรับกรณีที่สิทธิพิเศษทางภาษีสินค้าไทยกับยุโรปจะสิ้นสุดลงภายในสิ้นปีนี้
ข่าวเด่น