ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นเอสเอ็มอีไตรมาส 3 แตะระดับ 38 สูงสุดในปีนี้ แต่ยังต่ำกว่าระดับ 50 ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 ชี้ "เอสเอ็มอีภูมิภาค"ประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะภาคใต้กระทบกำลังซื้อเศรษฐกิจภูมิภาค
ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผลการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม ทีเอ็มบี ประจำไตรมาส 3/2557 พบว่า ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจเอสเอ็มอีในไตรมาส 3 ยังอ่อนแอ แม้จะมีสัญญาณการปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบปีนี้ โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการไตรมาส 3 อยู่ที่ระดับ 38.0 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 1.4 จุด ทั้งนี้แม้จะเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ดัชนีที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนว่าเอสเอ็มอียังไม่มีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวะธุรกิจของตัวเองในปัจจุบัน โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในด้านรายได้ธุรกิจ จากภาวะซบเซาของเศรษฐกิจภูมิภาคที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 นับว่าต่อเนื่องกันมา 3 ปี นับตั้งแต่ที่ได้เริ่มจัดทำมาตั้งแต่ปี 2555
ทั้งนี้ เมื่อสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการในระยะ 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจเอสเอ็มอีระยะ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 59.6 ซึ่งเพิ่มจากไตรมาสก่อนที่อยู่ในระดับ 55.7 และเป็นค่าดัชนีที่สูงสุดในรอบปีนี้เช่นกัน ส่วนปัจจัยกังวลที่มีผลต่อธุรกิจเอสเอ็มอีในไตรมาสนี้ คือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจตลาดและการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นมาแตะระดับ 48.1 จากไตรมาสก่อนที่อยู่ระดับ 31.1 เป็นระดับสูงสุดในปีนี้ สวนทางกับความกังวลปัจจัยด้านการเมืองที่ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 16.8 จากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 37.8 ที่ต่ำสุดในรอบปี
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณารายละเอียดรายภูมิภาค พบว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร มีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินธุรกิจสูงสุดเป็นอันดับ 1 และ 2 ขณะที่เอสเอ็มอีที่มีการพึ่งพารายได้จากภาคเกษตรกรรมค่อนข้างมากมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำต่อเนื่องกัน โดยเฉพาะภาคใต้ที่ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 36.9 ต่ำสุดเมื่อเทียบกับรายภาคอื่น โดยความเชื่อมั่นเอสเอ็มอีภูมิภาคที่ลดลงมาจากปัจจัยเรื่องพืชผลราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ โดยเฉพาะในภาคใต้ที่มีปัญหาเรื่องราคายางพารา และการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจยังชะงักงัน แม้ว่าทางภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือออกมาแต่ยังไม่สามารถช่วยกระตุ้นได้มากนัก
โดยภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนราว 10 % ของเศรษฐกิจรวม และมีการจ้างงานสูง 40 % ของแรงงานทั้งระบบ ซึ่งปัญหาพืชผลราคาเกษตรที่ตกต่ำนั้นส่งผลต่อปัญหาการจ้างงานในบางกลุ่ม โดยเฉพาะภาคใต้ที่มีสัดส่วนการวางงานเพิ่มขึ้นจาก 0.7 % ในปีก่อนหน้ามาอยู่ในระดับ 1.3 % ในปัจจุบัน ขณะเดียวกันราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ เกษตรกรในฐานะผู้บริโภคจะซื้อสินค้าและบริการจากธุรกิจเอสเอ็มอีลดลง ทำให้เงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจภูมิภาคน้อยลงไปด้วย โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าคงทน รวมทั้งการใช้จ่ายลงทุนซื้อปัจจัยการผลิตลดลงด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เอสเอ็มอีภูมิภาคที่ชะลอจากปัญหาราคาเกษตร จะไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจหรือเอสเอ็มอีในภาพรวมเพราะยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก และมองว่าจะไม่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของภาคธนาคารอย่างมีนัยสำคัญ เพราะภาคธนาคารยังมีเป้าหมายในการเติบโตของธุรกิจเอสเอ็มอีต่อเนื่อง ซึ่งจะหันไปเน้นในกลุ่มอื่นแทน ทั้งนี้มองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเริ่มเห็นชัดเจนในช่วงปลายไตรมาส 1 ของปี 2558 ที่ประเมินจีดีพีในปีหน้าไว้ที่ 4% ส่วนปีนี้คาดว่าโอกาสที่จะเห็นจีดีพีเติบโต 1.5 % ยังมีอยู่ แต่ศูนย์วิจัยฯ จะมีการทบทวนประมาณการณ์จีดีพีอีกครั้งในเร็วๆ นี้
ข่าวเด่น