อสังหาริมทรัพย์
"กรมบังคับคดี"เร่ง "ปลดล็อกห้องชุด" ที่ถูกยึดขายไม่ออก มูลค่ากว่า 62,172 ล้านบาท


"กรมบังคับคดี"เล็งขอแก้กฎหมาย "ปลดล็อคห้องชุด" ที่ถูกยึดค้างระบบ เผยเหตุขายไม่ออก เพราะค้างค่าส่วนกลางเพียบ บางยูนิตเท่ากับราคาห้องชุด

 

 
 
 
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า การจัดทำร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายมาตรา 309 จัตวานั้น ทางกรมบังคับคดีประสบปัญหาในการผลักดันสินทรัพย์ประเภทห้องชุดออกไป ซึ่งปัจจุบันมียึดไว้ 14,287 รายการ หรือ 8.4% ของรายการทรัพย์ที่ยึดได้ทั้งหมด คิดเป็นราคาประเมิน 62,172 ล้านบาท หรือ 26.33% ของมูลค่าทรัพย์ทั้งหมด ซึ่งกรมบังคับคดีมีทรัพย์รอการขายทอดตลาดทั้งหมด 170,140 รายการ มูลค่ารวมกัน 236,151 ล้านบาท
 
สาเหตุที่ห้องชุดไม่เป็นที่สนใจของตลาด เพราะผู้ซื้อจะต้องรับผิดชอบในค่าภาระส่วนกลางค้างชำระ โดยในส่วนที่ขายทอดตลาดไปแล้ว ส่วนใหญ่จะมีปัญหาในขั้นตอนการโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งผู้ซื้อทรัพย์ไม่สามารถนำไปปลดหนี้จากนิติบุคคลอาคารชุด ไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดินได้ เพราะไม่มีนิติบุคคลที่จะปลดหนี้ให้ได้ หรือหนี้ภาระส่วนกลางค้างชำระ มีจำนวนสูงมาก ก่อให้เกิดข้อพิพาทตามมา
 
โดยกรมบังคับคดีตั้งเป้าหมายที่จะมุ่งคุ้มครองประโยชน์ของผู้มีส่วนร่วมได้เสียในการบังคับคดี รวมถึงผู้ซื้อทรัพย์ให้ได้รับความเป็นธรรมยิ่งขึ้น ซึ่งได้เคยเสนอกระทรวงยุติธรรมตามแผนพัฒนากฎหมายของกรมบังคับคดี ปี 2551 ขึ้นมาทบทวน เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 
 
แนวทางที่กรมบังคับคดีจะทำ คือ ขอแก้ไขกฎหมาย ด้วยการเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยเสนอให้การโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดที่ซื้อจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงาน บังคับคดี สามารถทำได้โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ โดยไม่ต้องใช้ใบปลอดภาระหนี้ค่าส่วนกลางมาแสดง
 
 
 
 
ขณะที่หนี้ค่าส่วนกลางที่ค้างชำระนั้น หนี้ก้อนนั้นไม่ได้หายไปไหน แต่ผู้ก่อต้องเป็นผู้จ่าย หรือเจ้าของห้องชุดรายเดิมก่อนที่จะถูกยึดทรัพย์จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ สิทธิในการได้รับชำระหนี้ของนิติบุคคลอาคารชุดจึงยังมีอยู่ เพียงแต่จะต้องไปฟ้องร้องคดีกับเจ้าของเก่าแทน ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 287 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
 
"ที่ผ่านมา NPA ห้องชุดขายได้ค่อนข้างช้า เพราะบางยูนิตค้างค่าส่วนกลาง 200,000-300,000 บาท เกือบจะเท่าราคาห้องชุด ผู้ซื้อจึงไม่ประมูล ทำให้บางยูนิตใช้เวลาหลายปีก็ยังขายไม่ได้ หากแก้ไขกฎหมายได้ เชื่อว่าการขายทอดตลาดห้องชุดจะคล่องตัวขึ้น ขั้นตอนทำงานเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.อาคารชุด ซึ่งขึ้นกับกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย จึงต้องหารือร่วมกันในระดับกรมและกระทรวงด้วย โดยกรมยื่นเรื่องเสนอกระทรวงยุติธรรมตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา" นางสาวรื่นวดีกล่าว

บันทึกโดย : วันที่ : 28 ต.ค. 2557 เวลา : 07:06:31
02-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 2, 2025, 10:23 pm