เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
จับสัญญาณทิศทางการส่งออกปีนี้


 

การส่งออกในเดือนกันยายนได้พลิกกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น โดยเติบโต 3.19% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน

 

 

โดย นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นในรอบ 2 เดือน หลังจากที่เดือนก.ค.และเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา การส่งออกขยายตัวติดลบ 0.85% และ 7.40% ตามลำดับ

สำหรับการส่งออกในช่วง 9 เดือน ของปี 2557 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 170,456.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.85% การนำเข้า 9 เดือน มีมูลค่า 171,974.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 10% ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 1,517.5 ล้านเหรียญสหรัฐ สาเหตุที่การส่งออกไทยกลับมาขยายตัวได้เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ส่งออกเพิ่ม 2.8% ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวลดลงไม่มากเพียง 0.4%

 
 
 
ส่วนตลาดส่งออก ที่กลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น ได้แก่ ตลาดหลัก ทั้งญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น 55.3% ของมูลค่าส่งออกรวม เพิ่มขึ้น 1.4% , 6.2% และ 4.5% ตามลำดับ ขณะที่ตลาดศักยภาพสูง โดยเฉพาะอาเซียน ที่เป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย ก็กลับมาส่งออกเพิ่มขึ้นสูงถึง 8.8% แยกเป็นอาเซียนเดิม เพิ่ม 4.3% อาเซียนใหม่ เพิ่ม 19% จากการเพิ่มขึ้นของการค้าชายแดน ส่วนตลาดศักยภาพระดับรองลงมา ได้แก่ ทวีปออสเตรเลีย เพิ่มขึ้น 10.4% แต่ตะวันออกกลาง ลดลง 15.9%

สำหรับแนวโน้มการ ส่งออกในช่วงที่เหลืออีก 3 เดือนของปีนี้ กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า หากส่งออกได้ประมาณเดือนละ 19,500 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้การส่งออกทั้งปีกลับมาเป็นบวกได้ โดยเดือน ต.ค. การส่งออกน่าจะขยายตัวติดลบหรือบวกเล็กน้อย เพราะฐานปีที่แล้วยังสูงอยู่ แต่ 2 เดือนสุดท้าย คือ เดือนพ.ย.และ ธ.ค. น่าจะขยายตัวเป็นบวกได้แน่นอน แต่ปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในช่วง 3 เดือนสุดท้าย ได้แก่ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังไม่ดีขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนที่อาจมีความผันผวน และราคาสินค้าเกษตรบางรายการที่ยังตกต่ำ

 
 
 
ด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์สัญญาณการส่งออกที่มีแนวโน้มดีขึ้นว่า ยังมีหลายประเด็นที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย อาทิ จีน ยูโรโซน และญี่ปุ่น ที่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งอาจส่งผลบางส่วนกลับมากดดันการฟื้นตัวของราคาสินค้าส่งออกที่สำคัญ ทั้งในกลุ่มที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (ทั้งสินค้าเกษตร สินค้ากลุ่มแร่ เชื้อเพลิงและน้ำมัน) 

ขณะที่ สินค้าส่งออกที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของภาคการส่งออกไทย อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์/ส่วนประกอบ ยางพารา และแผงวงจรไฟฟ้า ซึ่งยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ก็อาจเป็นสัญญาณที่สะท้อนว่า เส้นทางการฟื้นตัวของภาคการส่งออกของไทย ยังต้องก้าวข้ามหลายโจทย์ที่ท้าทายในช่วงที่เหลือของปี
 
ฉะนั้นทิศทางการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2557 ยังมีความเสี่ยงที่ภาพรวมการส่งออกของไทยในปีนี้ จะบันทึกตัวเลขที่ติดลบ โดยอาจจะหดตัวลง 0.3%
 

บันทึกโดย : วันที่ : 30 ต.ค. 2557 เวลา : 05:55:31
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 11:56 am