vent
|
|
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 6:1 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.00% ในการประชุมวันที่ 5 พฤศจิกายน 2014
|
Analysis
|
|
กนง. ประเมินว่านโยบายการเงินที่ผ่อนปรนในปัจจุบันไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย แม้ว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 อาจขยายตัวต่ำกว่าที่ กนง. ได้คาดไว้เดิม เนื่องจากการใช้จ่ายในประเทศรวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐต่ำกว่าที่คาดและการส่งออกที่อ่อนแอ แต่ กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในปีหน้าจากการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าปีนี้และการลงทุนภาครัฐที่จะช่วยสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ 2.00% ในปัจจุบันนี้ กนง. มองว่าไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและยังสามารถรักษาเสถียรภาพทางการเงินได้อย่างเหมาะสม
|
|
|
เสถียรภาพทางการเงินของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ทำให้นโยบายการเงินยังสามารถผ่อนคลายได้ต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อในเดือนตุลาคมลดลงมาอยู่ในระดับ 1.5% ต่ำสุดในรอบ 1 ปี เนื่องจากราคาพลังงานที่ลดต่ำลง ในขณะเดียวกัน สถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันยังค่อนข้างมีเสถียรภาพถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของนโยบายการเงินค่อนข้างมากทั้งในสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น ในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยจึงยังสามารถอยู่ในระดับปัจจุบันได้โดยไม่บั่นทอนเสถียรภาพทางการเงิน
|
|
|
ในมุมมองของกนง. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับบทบาทของนโยบายการคลัง กนง.ประเมินว่าปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อภาพการฟื้นตัวดังกล่าวคือ ความรวดเร็วของการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐ ซึ่งอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐในปีงบประมาณ 2557 อยู่ที่ 65.8% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังที่ 71.9% สะท้อนว่านโยบายการคลังยังไม่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเท่าที่ควร
|
Implication
|
|
อีไอซีประเมินว่านโยบายการเงินยังต้องผ่อนคลายต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังฟื้นตัวได้ช้า ขณะที่การส่งออกยังอ่อนแอ และการใช้จ่ายภาครัฐยังต่ำกว่าที่คาด โดยคาดว่า กนง. จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างน้อยจนถึงสิ้นไตรมาส 2 ของปี 2015 เพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างมีเสถียรภาพ
|
|
|
หลังจากนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะต้องทยอยปรับเพิ่มขึ้นกลับสู่ภาวะปกติ เพื่อให้เหมาะสมต่อสภาพเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ใกล้เคียงกับศักยภาพในปีหน้า ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่จะปรับตัวสูงขึ้นตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว รวมไปถึงความเสี่ยงด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงินบาทจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า โดยอีไอซีคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะเริ่มปรับเพิ่มขึ้นภายในสิ้นปี 2015
|
ข่าวเด่น