จับตาการปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่จะมีความชัดเจนภายในเดือนนี้ ซึ่ง นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยอมรับว่า กระทรวงฯอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทุกชนิด เพื่อเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาให้เสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะมีผลต่อราคาขายปลีกภายในประเทศตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไป
โดยการปรับภาษีสรรพสามิตราคาน้ำมันทุกชนิด จะปรับให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มน้ำมันเบนซินได้ปรับภาษีดังกล่าวแล้ว แต่ยังเหลือน้ำมันดีเซล และมีความเป็นไปได้ที่จะโยกอัตราการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 3.7 บาทต่อลิตร ให้เป็นภาษีสรรพสามิตแทน และสลับเอาภาษีปัจจุบัน 0.75 บาทต่อลิตร เป็นเงินเก็บเข้ากองทุนน้ำมันแทน โดยรูปแบบนี้จะไม่มีผลต่อราคาขายปลีก ทั้งนี้จะมีการปรับราคาดีเซลขึ้นอีกนิดหน่อยแต่ยืนยันว่าจะไม่กระทบประชาชนมาก
นอกจากนี้ รัฐบาลยังเตรียมปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีหน้าโรงแยกก๊าซ ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 330 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพื่อให้สอดคล้องกับราคาตลาดโลกที่ปรับขึ้นเป็นกว่า 600 เหรียญสหรัฐต่อตันแล้ว โดยจะคำนวณจากราคานำเข้าและราคาที่ผลิตได้เองภายในประเทศ ซึ่งราคาแอลพีจีที่ใช้คำนวณน่าจะประมาณ 500 เหรียญสหรัฐต่อตัน
ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี บอกถึงแผนปรับโครงสร้างราคาพลังงานในปีหน้า โดยเฉพาะการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ว่า กระทรวงฯควรเก็บภาษีดีเซลที่อัตรา 4 .50 บาท จากปัจจุบันเก็บที่ 75 สตางค์ต่อลิตร และลดการอุดหนุนก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวี เพื่อป้องกันการบิดเบือนราคา รวมถึงเดินหน้าเก็บภาษีเพิ่มเติม ทั้งภาษีมรดก, ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น ภาษีชาเขียว
ส่วน นายพรายพล คุ้มทรัพย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน ระบุว่า หลังการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันจะส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มเบนซินลดลงบ้าง เพราะปัจจุบันมีการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันและจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราที่สูง โดยเฉพาะแก๊สโซฮอล์ที่มีส่วนผสมของเอทานอลมากขึ้น ซึ่งรัฐมีการอุดหนุนเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้มากขึ้น อีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง การจัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ลดลง และการลดภาษีสรรพสามิต
ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่คงไม่มาก และจะปล่อยราคาลอยตัว โดยยกเลิกการตรึงราคาไว้ที่ลิตรละไม่เกิน 30 บาท เช่นเดียวกับแก๊สแอลพีจีก็จะลอยตัวเช่นกัน
ทิศทางการปรับราคาพลังงานสอดคล้องกับท่าทีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ยอมรับว่า สาเหตุการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน เพื่อให้เป็นไปตามกลไกตลาดสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยเป็นการปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป แบบขั้นบันได เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ไปเตรียมมาตรการดูแลผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การขอความร่วมมือผู้ผลิตในการปรับราคาสินค้าที่ควรสะท้อนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง
ข่าวเด่น