ปัจจุบัน การท่องเที่ยวไทยรอจังหวะการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติจากแถบเอเชียเป็นหลัก โดยในภาพรวมนั้นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น แต่จะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่โดยคาดว่าต้องใช้เวลานานกว่าวิกฤติอื่นๆ ที่ผ่านมาซึ่งใช้เวลาฟื้นตัวกลับมาเป็นบวกได้ภายในประมาณ 3-4 เดือนโดยเฉลี่ย ทั้งนี้ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2013 เป็นต้นมา จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 9 เดือนติดต่อกัน โดยตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติจากแถบเอเชียโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่มีสัดส่วนเกือบ 20% ได้ลดจำนวนลงค่อนข้างมากและส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวสูง ซึ่งตรงกันข้ามกับกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดเดิม ทั้งจากยุโรปและสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่ามากจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ โดยหากนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ชุมนุมในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2013 จนมาถึงกันยายนที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออกลดลง 12%YOY (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า) ในขณะที่นักท่องเที่ยวจากยุโรปยังมีจำนวนเพิ่มขึ้น 5%YOY (รูปที่ 1) สะท้อนให้เห็นว่าตลาดเดิมๆ ดูเหมือนจะมีการทำความเข้าใจสถานการณ์บ้านเมืองของไทยเป็นอย่างดี และยังคงเดินทางมาท่องเที่ยวทางภาคใต้เหมือนเดิมในช่วงที่มีการชุมนุมในกรุงเทพฯ
ผลประกอบการของธุรกิจโรงแรมดูเหมือนจะยิ่งพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้มีความอ่อนไหวสูงตามพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ โดยอัตราเข้าพักโรงแรมมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของนักท่องเที่ยวจีนเป็นพิเศษและมากขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้านี้ กล่าวคือ จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยแต่ส่งผลให้อัตราการเข้าพักโรงแรมเปลี่ยนแปลงตามได้มากขึ้นกว่าเดิม โดยในช่วง 2006-2010 จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 1% จะช่วยเพิ่มอัตราเข้าพักโรงแรมในกรุงเทพฯ ได้ราว 8% แต่หลังปี 2011 เป็นต้นมา พบว่าอัตราการเข้าพักโรงแรมในกรุงเทพฯ จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 11% ถ้านักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้น 1% โดยประมาณ (รูปที่ 2) ในทำนองเดียวกันเมื่อนักท่องเที่ยวจีนลดลงก็จะส่งผลให้อัตราเข้าพักโรงแรมลดลงได้ค่อนข้างมากเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวจึงควรมีแนวทางกระจายความเสี่ยงทางด้านตลาดนักท่องเที่ยวในระดับหนึ่ง เพื่อให้ได้ประโยชน์จากทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวแถบเอเชียที่มีแนวโน้มขยายตัวสูง และยังคงฐานลูกค้าโซนตะวันตกส่วนหนึ่งเพื่อลดผลกระทบเมื่อเกิดสถานการณ์ที่จะส่งผลต่อนักท่องเที่ยวจากแถบเอเชียที่มีความอ่อนไหวสูงกว่า นอกจากนี้ การจองห้องพักล่วงหน้าเป็นระยะเวลานานนั้นมีความสำคัญน้อยลง โดยนักท่องเที่ยวกำลังเปลี่ยนเทรนด์การจองห้องพักไปสู่ช่องทางอินเตอร์เน็ตมากขึ้น เนื่องจากมีโอกาสจะได้รับราคาพิเศษ หรือสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากการจองห้องพักที่ยังว่างอยู่ในช่วงใกล้วันเดินทาง ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมยิ่งมีการแข่งขันเพื่อใช้ประโยชน์จากช่องทางอินเตอร์เน็ตมากขึ้น_ทั้งแง่มุมความหลากหลายและความตื่นตัวในการทำการตลาด
ศักยภาพการเติบโตของการท่องเที่ยวไทยในอนาคตจะยังคงขึ้นอยู่กับนักท่องเที่ยวจีน อาเซียน และ emerging market อื่นๆ แม้การหันไปมุ่งเน้นตลาดนักท่องเที่ยวในตลาดเดิม อาจจะเป็นอีกทางแนวทางหนึ่งสำหรับธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในแง่ของการรักษาฐานลูกค้าที่ไม่อ่อนไหวต่อเหตุการณ์ต่างๆ มากนัก อีกทั้งยังมีระยะพำนักยาวและใช้จ่ายสูง แต่การเน้นลูกค้ากลุ่มตะวันตกมากเกินไปอาจจะเสียโอกาสในการเติบโตสูงของการท่องเที่ยวไทยในอนาคตข้างหน้า เพราะในอนาคตการท่องเที่ยวไทยจะยังได้รับผลดีจากนักท่องเที่ยวจีน อาเซียน และ emerging market อื่นๆ มากกว่าด้วยศักยภาพในการขยายตัวตามการเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อหัวของประชากรที่สอดคล้องกับพฤติกรรมและการขยายตัวของการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของชนชั้นกลาง (รูปที่ 3) โดยมีการคาดการณ์ว่าสามประเทศที่จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางออกนอกประเทศเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงปี 2012-2017 ได้แก่ จีน รัสเซีย และอินเดีย โดยเฉพาะชาวจีนจะมีการเดินทางออกไปเที่ยวนอกประเทศเพิ่มขึ้นถึง 45 ล้านคน ชาวรัสเซียเพิ่มขึ้นประมาณ 17 ล้านคน
ในระยะยาวที่นักท่องเที่ยวตลาดใหม่ๆ จะมีทางเลือกมากขึ้น การท่องเที่ยวไทยจำเป็นต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพื่อรักษาการขยายตัวอย่างยั่งยืน การฟื้นตัวและการเติบโตของการท่องเที่ยวไทยในระยะสั้น อาจจะไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลมากนัก เนื่องจากจะยังได้รับอานิสงส์จากตลาดใหม่ๆ ที่มีโอกาสขยายตัวสูง แต่การเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวต่างหากที่ดูเหมือนจะต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ เพิ่มเติมนอกจากการกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวด้วยข้อได้เปรียบทางด้านแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นปัจจัยส่งเสริมให้ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันมาโดยตลอด แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ไทยต้องเร่งเสริมสร้างศักยภาพด้านการแข่งขันในระยะยาว ทั้งนี้ การให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT เป็นสิ่งที่อาจจะมีการพูดถึงกันมามาก แต่ทั้งสองด้านนี้ยังเป็นจุดอ่อนของไทยจากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวและการเดินทาง (Travel and Tourism Competitiveness Index) ของ 140 ประเทศทั่วโลก (รูปที่ 4) พบว่าแง่มุมทางด้านสิ่งแวดล้อมของไทยที่ดูเหมือนจะด้อยกว่าประเทศอื่นๆ คือ ปัญหาทางด้านปริมาณฝุ่นละออง ความจริงจังในการอนุรักษ์สัตว์ป่า และการให้ความสำคัญกับสนธิสัญญาทางด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT ค่อนข้างมีความชัดเจนถึงปัญหาอยู่แล้วโดยเฉพาะเรื่องระบบอินเทอร์เน็ตที่ยังตามหลังอยู่อีกหลายประเทศ ซึ่งสวนทางกับเทรนด์การใช้อินเทอร์เน็ตที่เข้ามามีบทบาทในภาคการท่องเที่ยวในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี การพัฒนาในด้านดังกล่าวมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้นจากนโยบาย digital economy ที่ภาครัฐกำลังให้การสนับสนุน
|
ข่าวเด่น