แบงก์-นอนแบงก์
ผล Due Diligence เอสเอ็มอีแบงก์ บริษัทอีวายผู้ประเมินระบุตั้งสำรองเกินเกณฑ์แบงก์ชาติ


 เอสเอ็มอีแบงก์ เผยผล Due Diligence จากบริษัท อีวาย เงินสำรองที่ธนาคารมีอยู่เพียงพอตามกฎเกณฑ์ของแบงก์ชาติ สามารถรองรับความเสียหายที่มีอยู่ได้  มั่นใจนำส่งแผนฟื้นฟูฉบับสมบูรณ์ต่อ สคร. ได้ภายในเวลาที่กำหนด คือ วันที่ 30 พ.ย.2557

 

นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารได้รับคำสั่งจากคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ให้เร่งดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน (Due Diligence) เพื่อนำผลตรวจสอบที่แล้วเสร็จ มาประกอบจัดทำแผนแก้ไขปัญหาองค์กรที่เป็นรูปธรรม รวมถึงแนวทางป้องกันการเกิดปัญหาในอนาคต และให้นำเสนอ คนร. ภายใน 2 เดือน นับแต่ คนร.มีมติ หรือ ภายใน 30 พฤศจิกายน 2557 นั้น ธนาคารได้ว่าจ้างให้บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสอบบัญชีระดับโลกให้เป็นผู้สอบทานความถูกต้องของเงินให้สินเชื่อตามระบบบัญชีที่ธนาคารบันทึกไว้ และความเพียงพอของเงินสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ โดยยึดถือยอดคงค้าง ณ 30 มิถุนายน 2557 และได้นำส่งให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557  โดยสรุปความเห็น บริษัท อีวาย มีสาระสำคัญ ดังนี้

 

1. เอสเอ็มอีแบงก์ มีสินเชื่อปกติ และสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่างจากที่บันทึกไว้ในระบบบัญชีของธนาคารเล็กน้อย คือ NPL ควรเพิ่มขึ้น 260 ล้านบาท ดังนั้น ณ 30 มิถุนายน 2557 ธนาคารจะมีสินเชื่อคุณภาพดี จำนวน 52,928 ล้านบาท (60.08%) และสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ NPL จำนวน 35,167 ล้านบาท (39.92%)

 

2. เอสเอ็มอีแบงก์ จะต้องมีเงินสำรองพึงกันตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย 14,556 ล้านบาท แต่ธนาคารมีเงินสำรองอยู่จริง 14,937 ล้านบาท ดังนั้น จึงมีสำรองส่วนเกินมากกว่าเงินสำรองพึงกันเป็นจำนวน 381 ล้านบาท เงินสำรองที่ธนาคารมีอยู่มีความเพียงพอตามเกณฑ์ที่แบงก์ชาติบังคับใช้กับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเข้มงวดกว่าเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) ถือปฏิบัติ

 

เมื่อพิจารณารายละเอียดของการกันสำรองของธนาคาร  บริษัทอีวาย  มีความเห็นว่า  สำรองพึงกันที่แท้จริงของธนาคาร ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2557 ควรจะสูงกว่าจำนวนเงินสำรองพึงกันที่ธนาคารระบุไว้ 974 ล้านบาท  โดยเกือบทั้งหมดมีสาเหตุเนื่องมาจากข้อบกพร่องของหลักประกัน กล่าวคือ        1. ธนาคารไม่ได้ปรับปรุงราคาประเมินของหลักประกันทุกๆ 3 ปี ซี่งตามเกณฑ์ของแบงก์ชาติจะไม่สามารถนำหลักประกันเหล่านั้นมาหักออกจากยอดหนี้ในการคำนวณเงินสำรองได้ (เงินสำรอง=ยอดหนี้ NPL คงค้าง – หลักประกันที่แบงก์ชาติอนุญาตให้นำมาหักได้)  2. ธนาคารไม่ได้ให้บุคคลภายนอกประเมินราคาหลักประกันของ NPL ที่มียอดหนี้ระหว่าง 25-50 ล้านบาท จึงไม่สามารถนำหลักประกันมาหักออกยอดหนี้ในการกันสำรองได้ ซึ่งเรื่องนี้ข้อบังคับของกระทรวงการคลังกำหนดให้ SFIs จ้างบุคคลภายนอกประเมินราคาหลักประกันของ NPL ที่มียอดหนี้ตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป

 

ประธานกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวตอนท้ายว่า ผลการสอบทานของบริษัท อีวาย ทำให้เชื่อมั่นได้ว่า ธนาคารมีเงินสำรองเพียงพอรองรับความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับกิจการธนาคาร นอกเหนือจากผลการทำ Due Diligence แล้ว ธนาคารจะนำส่งแผนฟื้นฟูฉบับสมบูรณ์ที่เป็นรูปธรรมต่อ สคร.โดยเร็วต่อไป โดยมั่นใจว่าสามารถนำส่งได้ก่อนวันครบกำหนด คือ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2557 และธนาคารจะเดินหน้าทำพันธกิจในการสนับสนุน SMEs โดยเฉพาะรายย่อยในต่างจังหวัดต่อไป

 

 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 พ.ย. 2557 เวลา : 00:10:54
27-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 27, 2024, 3:44 am