เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
BOI ไฟเขียว "ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนในระยะ 7 ปี"


 

การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ)  ครั้งล่าสุดได้พิจารณาเห็นชอบ “ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนในระยะ 7 ปี” (พ.ศ. 2558 - 2564) ตามที่บีโอไอนำเสนอ โดยมีผลบังคับใช้สำหรับโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป

 
 
 
โดยนโยบายและหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ จะให้ความสำคัญกับประเภทกิจการที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่าต่อภาคอุตสาหกรรมและต่อประเทศเป็นหลัก เช่น กิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง กิจการเชิงสร้างสรรค์ กิจการหรือบริการเพื่อรองรับการพัฒนา Digital Economy กิจการที่พัฒนาจากทรัพยากรในประเทศ ดังนั้น การส่งเสริมการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ จะยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์ตามเขตที่ตั้ง เหลือเฉพาะพื้นที่ทีมีรายได้ต่อหัวต่ำใน 20 จังหวัดเท่านั้น และการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มจากสิทธิพื้นฐานตามประเภทอุตสาหกรรม
 

 
 
สำหรับ Digital Economy ได้มีการกล่าวถึง ตั้งแต่วันที่ ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ดูแลด้านเศรษฐกิจ  เข้ามารับตำแหน่ง และระบุถึงกรอบการทำงานด้านเศรษฐกิจว่า เตรียมวางรากฐานเศรษฐกิจไทยไปสู่  
“Digital Economy” ที่ต้องเชื่อมโยงกับทุกหน่วยงานในการใช้ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต่างชาติ ทั้งประเทศสิงคโปร์ เกาหลี และญี่ปุ่นสนใจ

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังเชื่อว่า  แนวทางดังกล่าวจะมีส่วนช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทย ซึ่งรัฐบาลนี้ให้ความสำคัญต่อเอสเอ็มอีอย่างมาก ด้วยการกำหนดแนวทางในการให้การสนับสนุนเอสเอ็มอี โดยวางระบบงาน เช่น ระบบบัญชี ระบบสินค้าคงคลัง ระบบการเงินไว้ในระบบฐานข้อมูลกลาง (Data Center) ที่รัฐบาลเป็นผู้จัดทำให้ภายใต้นโยบาย “ดิจิตอล อีโคโนมี” ที่รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการอยู่  โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จะมีการเปิดเว็บไซต์เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงระบบข้อมูลที่สำคัญ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปติดต่อยังสถานที่ราชการ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้เอสเอ็มอีได้เข้าถึงข้อมูลที่สำคัญมากขึ้น
 
       
 
 
ซึ่งสิ่งต่อไปที่รัฐบาลต้องการเห็น คือ การให้คำปรึกษาของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องผ่านทางระบบออนไลน์ เพื่อให้เอสเอ็มอีที่มีจำนวนมากในต่างจังหวัดสามารถได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งจะสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้เอสเอ็มอีได้มากขึ้น

สำหรับความหมายของดิจิตอล อีโคโนมี (Digital economy) จะคล้ายกับเศรษฐกิจใหม่ (new economy) คือ ระบบเศรษฐกิจที่ยืนบนฐานความรู้ อันเป็นผลผลิตจากการค้าเสรีและการปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศในช่วงที่ผ่านมา โดยระบบเศรษฐกิจใหม่ เน้นเทคโนโลยีกับความรู้ของบุคคล  สามารถผลิตสินค้ามีคุณภาพกว่าระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน ที่มุ่งลดต้นทุนเป็นสำคัญ
 
 

บันทึกโดย : วันที่ : 26 พ.ย. 2557 เวลา : 03:44:58
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 11:38 am