ขณะที่ทั่วโลกกำลังจับตาผลการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงจาก 4 ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย เวเนซุเอลา รัสเซีย และเม็กซิโก เพื่อหารือถึงแผนการปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ หลังราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดอย่างต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส (WTI) ลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่ง ราคาน้ำมันที่ปรับลดลง สนับสนุนให้การปรับโครงสร้างราคาพลังงานของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำได้ง่ายขึ้น
ซึ่ง นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า กระทรวงฯได้มีการปรับลดราคาน้ำมันสำเร็จรูปประเภทต่างๆ นับสิบครั้ง ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารจัดการ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนกระทั่งมีรัฐบาลและบริหารราชการแผ่นดินจนถึงปัจจุบัน
โดยปัจจุบันราคาน้ำมันเบนซิน 95 ปรับลดลงไป 9 ครั้ง ส่งผลให้ราคาปรับลดลงมา 7.79 บาทต่อลิตร น้ำมันแก๊สโซฮอล 95 ปรับลดลงไป 14 ครั้ง ราคาปรับลดลง 6.83 บาทต่อลิตร น้ำมันแก๊สโซฮอล 91 ปรับลดลงไป 13 ครั้ง ราคาปรับลดลง 6.40 บาทต่อลิตร สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ราคาตลาดโลกลดลงประมาณ 30 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรลจากเดือนพฤษภาคมจนถึงปัจจุบัน (ประมาณ 6.30 บาทต่อลิตร)
ประเภท จำนวนที่ลดลง ราคาที่ลด(บาท/ลิตร)
เบนซิน95 9 ครั้ง 7.79
แก๊สโซฮอล 95 14 ครั้ง 6.83
แก๊สโซฮอล 91 13 ครั้ง 6.40
ดีเซล 5 ครั้ง 0.60
ในส่วนของน้ำมันดีเซล สาเหตุที่ราคาเปลี่ยนแปลงต่างจากกลุ่มเบนซิน เนื่องจากมีการอุดหนุนราคาที่ผ่านมาในอดีต และการยกเว้นภาษีสรรพสามิต ซึ่งปัจจุบันเก็บเพียง 0.75 บาทต่อลิตรเท่านั้น
การปรับลดราคาน้ำมันดังกล่าว ก็เป็นไปตามนโยบาย คสช.และรัฐบาลที่มีนโยบายที่ชัดเจนในการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซฯ ซึ่งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติให้ปรับอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันสำเร็จรูปทุกชนิดใหม่
ขณะเดียวกันทิศทางของราคาน้ำมันในโลกก็ยังมีแนวโน้มที่จะไม่ปรับเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสดีในการบริหารให้ราคาน้ำมันในประเทศปรับเข้าสู่ราคาตลาดที่แท้จริง ทั้งในส่วนของโครงสร้างราคาน้ำมันประเภทต่างๆ และการบริหารกองทุนน้ำมัน
ข่าวเด่น