แบงก์-นอนแบงก์
"กสิกรไทย"จับมือ "อาโอโซระ แบงก์" หนุนเอสเอ็มอีญี่ปุ่น ควบรวมธุรกิจไทย


กสิกรไทยจับมือธนาคารอาโอโซระ ผู้เชี่ยวชาญการควบรวมกิจการจากญี่ปุ่น เพื่อหาพันธมิตรทางธุรกิจให้กับเอสเอ็มอีญี่ปุ่น มุ่งส่งเสริมการรวมทุนและควบรวมกิจการระหว่างสองประเทศมากขึ้น และดึงดูดนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาทำธุรกิจในไทยเพื่อเป็นประตูการค้าสู่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียน
 
 
นายปรีดี  ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากการที่ญี่ปุ่นประกาศนโยบาย Thailand+1 โดยให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการลงทุนของธุรกิจญี่ปุ่นที่ต้องการขยายฐานธุรกิจออกนอกประเทศ ทำให้นักธุรกิจญี่ปุ่นสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ควบคู่กับการลงทุนในประเทศอาเซียนอื่น ซึ่งที่ผ่านมานักธุรกิจญี่ปุ่นให้ความสนใจนำเงินทุนเข้ามาตั้งบริษัทในไทยโดยถือหุ้น 100% ในขณะที่บางรายต้องการหาพันธมิตรในการร่วมลงทุน หรือควบรวมกิจการกับธุรกิจของไทย ซึ่งมีความเข้าใจสภาพตลาดในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านดีกว่า ในขณะที่ธุรกิจของไทยก็ต้องการร่วมทุนกับญี่ปุ่นเพื่อขยายธุรกิจ และการได้รับความรู้ด้านการจัดการใหม่ๆ ด้วย

ดังนั้นธนาคารกสิกรไทย จึงได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรกับธนาคารอาโอโซระ ซึ่งธนาคารชั้นนำของญี่ปุ่นที่มีความเชี่ยวชาญในการเป็นที่ปรึกษาด้านการควบรวมกิจการ (M&A) นับเป็นธนาคารพันธมิตรแห่งแรกที่มีการร่วมมือด้าน M&A และเป็นธนาคารพันธมิตรจากญี่ปุ่นลำดับที่ 29 ของธนาคารกสิกรไทย โดยความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยนักธุรกิจไทยและญี่ปุ่นที่ต้องการหาพันธมิตรหรือคู่ค้าเพื่อร่วมลงทุน โดยมีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างสองประเทศ ได้แก่ การจัดสัมมนาให้ความรู้แก่นักลงทุนญี่ปุ่นเกี่ยวกับโอกาสของธุรกิจและการลงทุนในไทย การเจรจาจับคู่และควบรวมกิจการของผู้ประกอบการไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างการลงทุนระหว่างสองประเทศและดึงดูดนักลงทุนญี่ปุ่น โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีให้เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยมากขึ้น

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยเติมเต็มบริการที่ธนาคารกสิกรไทยให้กับลูกค้าญี่ปุ่นเพิ่มเติมจากปัจจุบันที่เน้นการให้บริการข้อมูลและบริการทางการเงินทั่วไปผ่านเครือข่ายพันธมิตรธนาคารท้องถิ่นญี่ปุ่น 28 แห่ง และองค์กรภาครัฐ เอกชน ของประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสสำหรับธุรกิจไทยในการหาผู้ร่วมทุนญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยี ประสบการณ์ และองค์ความรู้ นอกเหนือจากการให้การสนับสนุนด้านการเงิน

นายชินซุเกะ บาบะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารอาโอโซระ กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาของภาคธุรกิจในประเทศไทยช่วงหลายปีที่ผ่านมามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน และถือเป็นกลไกหลักที่สนับสนุนยุทธศาสตร์การขยายตัวของบริษัทญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน ความร่วมมือของธนาคารอาโอโซระกับธนาคารกสิกรไทยซึ่งเป็นสถาบันการเงินชั้นนำในประเทศไทยครั้งนี้จะช่วยให้ธนาคารอาโอโซระสามารถพัฒนาเครือข่ายการให้บริการด้านการควบรวมกิจการระหว่างประเทศ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

ดังนั้นธนาคารอาโอโซระ จึงได้เลือกธนาคารกสิกรไทยเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ เนื่องจากมองว่าเป็นธนาคารท้องถิ่นที่มีเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมากที่สุด ทั้งยังดูแลลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยก่อนหน้านี้ธนาคารอาโอซาระได้มีการลงนามกับพันธมิตรที่เป็นสถาบันการเงินต่างประเทศในอาเซียนแล้วสองแห่ง คือ Oversea-Chinese Banking (OCBC) และ Bank Central Asia (BCA) ซึ่งเป็นธนาคารชั้นนำของสิงคโปร์และอินโดนีเซีย

 

ข้อมูลจากหอการค้าญี่ปุ่นพบว่า มีบริษัทจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาจัดตั้งและดำเนินธุรกิจในประเทศไทยแล้วมากกว่า 7,000 บริษัท แยกตามขนาดของธุรกิจพบว่าเกือบ 50% เป็นบริษัทญี่ปุ่นที่มีขนาดกลางและขนาดเล็ก และในช่วงปี 2548-2553 ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยเป็นอันดับหนึ่งมาตลอด นอกจากนี้นักลงทุนญี่ปุ่นยังแสดงความสนใจในการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีญี่ปุ่น และจากการสำรวจทุกครั้งนักลงทุนญี่ปุ่นยังมีความผูกพันและสนใจเข้ามาลงทุน ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเป็นลำดับต้นๆ มาตลอด และแม้ว่าประเทศไทยจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้น แต่ยังได้เปรียบเรื่องระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมกว่าหลายประเทศ ทั้งยังมีลักษณะภูมิประเทศที่เหมาะสมจะเป็นศูนย์กลางการผลิตเพื่อป้อนให้กับประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าผู้ประกอบการญี่ปุ่นจะเข้ามาลงทุนผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น อาทิ สินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนขึ้น ใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น หรือมีดีไซน์และต้องใช้แรงงานที่มีฝีมือ

 

ธนาคารอาโอโซระเป็นธนาคารท้องถิ่นของญี่ปุ่น มีสินทรัพย์มากกว่า 1.3 ล้านล้านบาท ปัจจุบันมีสาขาภายในประเทศ 20 สาขา มีสำนักงานตัวแทนที่นิวยอร์ก เซี่ยงไฮ้ สิงคโปร์ และบริษัทในเครือที่ฮ่องกงด้วย

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 พ.ย. 2557 เวลา : 11:42:19
27-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 27, 2024, 10:57 am