เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"จรัมพร โชติกเสถียร "กับบทบาทฟื้นการบินไทย ให้ติด 1 ใน 5 สายการบินดีที่สุดในโลก


การเข้ารับตำแหน่งในฐานะกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) ของบริษัทการบินไทย ของ นายจรัมพร โชติกเสถียร อดีตกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  นับว่าเป็นเผือกร้อนที่อยู่ในมือ เพราะต้องยอมรับว่า ฐานะทางการเงินของการบินไทย สายการบินแห่งชาตินี้ คงต้องใช้ความรู้และความสามารถอย่างมาก ในการเข้าบริหารงานให้บรรลุผลสำเร็จ 


 
 
แม้ว่า กรรมการผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่ จะเชื่อว่า ในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ธ.ค.นี้ จะเสนอแผนปฏิรูปการบินไทยให้คณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทยพิจารณา ซึ่งแผนปฏิรูปองค์กรจะมีระยะเวลาดำเนินการไม่ต่ำกว่า 5 ปี ประกอบด้วยแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ในแผนดังกล่าวจะมีเรื่องการเพิ่มรายได้ การลดรายจ่าย การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของการบินไทยให้ดีขึ้น และทำให้การบินไทยมีกำไรเติบโตอย่างยั่งยืน นำการบินไทยไปสู่สายการบินแห่งชาติ เป็นที่ภาคภูมิใจของลูกค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้น เหมือนกับในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากบอร์ดบริษัทฯ พิจารณาแผนปฏิรูปแล้ว ก็จะนำแผนดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (ซุปเปอร์บอร์ด) ในเดือนม.ค.2558
 
 
 
รวมทั้งยังเชื่อมั่นว่า ภายในสิ้นปี 2558 ฐานะของการบินไทยจะกลับมาดีอย่างแน่นอน และในช่วงที่ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ จะทำให้การบินไทยติด 1 ใน 5 ในการจัดอันดับประจำปีสายการบินดีที่สุดในโลก

ซึ่งนอกจากแรงกดดันจากภายในองค์กรแล้ว การบินไทย ซึ่งถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ 1 ใน 7 แห่ง ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้ความสำคัญ ในการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งล่าสุด ครม.เห็นชอบตามข้อเสนอคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซุปเปอร์บอร์ด ในการแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจ 7 แห่งที่มีปัญหาต้องฟื้นฟู ประกอบด้วย ทีโอที, กสท โทรคมนาคม, การบินไทย, ร.ฟ.ท., ขสมก,เอสเอ็มอีแบงก์ และไอแบงก์

โดยได้วางแนวทางในการดูแลรัฐวิสาหกิจ ซึ่งที่เกี่ยวข้องกับบริษัทการบินไทย ได้แก่ 1.การกำหนดให้การบินไทยต้องลดค่าใช้จ่ายลง 20-30% 2.การนำระบบบรรษัทภิบาลมาใช้กับรัฐวิสาหกิจ โดยการคัดเลือกกรรมการจากบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นกรรมการ 3. การกำหนดแนวทางการลงทุนด้วยความโปร่งใส 4. การเห็นชอบกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของ กฟผ. เพื่อเป็นทุนสร้างโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาหน่วยลงทุน 20 ปี เพื่อนำร่องให้กับการระดมทุนของรัฐวิสาหกิจรายอื่น นับว่าเป็นการระดมทุนผ่านกองทุนดังกล่าวครั้งแรกของรัฐวิสาหกิจ 
 
5. การกำหนดยุทธศาสตร์ของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 56 แห่ง เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทในการบริหารงาน 6. การปรับลดสิทธิประโยชน์ของบอร์ดรัฐวิสาหกิจ นอกจากเบี้ยประชุมให้เหมาะสม 7. การปรับเงินบริจาคเพื่อการกุศล ต้องคำนึงถึงประโยชน์ต่อองค์กรและมีเป้าหมายให้ชัดเจน โดยควรปรับลดลง 10% เพราะที่ผ่านมาถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
 
 
 
 
 ก็คงต้องติดตามผลงานของ "ดีดี การบินไทยคนใหม่" ว่าแผนปฎิรูปองค์กรที่วางไว้จะบรรลุผลมากน้อยแค่ไหน และจะสามารถผลักดันให้ "การบินไทย" สายการบินแห่งชาติของไทย สามารถติด 1 ใน 5 สายการบินดีที่สุดในโลกได้หรือไม่
 

บันทึกโดย : วันที่ : 05 ธ.ค. 2557 เวลา : 00:20:52
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 11:44 am