หลังจากชิมลางธุรกิจค้าปลีกมาพักใหญ่ ประกอบกับการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกนับวันจะยิ่งมีความรุนแรง ส่งผลให้ "เจริญ สิริวัฒนภักดี" ประธานกรรมบริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจ จำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักกันดีในนาม "เจ้าพ่อน้ำเมา" ธุรกิจเบียร์ช้าง และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกหลายยี่ห้อ เริ่มอดรนทนไม่ไหวต้องออกมาปรับแผนการดำเนินธุรกิจค้าปลีก ด้วยการปรับโครงสร้างการบริหารงานใหม่ เพื่อให้มีความกระชับ ชัดเจน และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เดิมที บริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจ แบ่งธุรกิจค้าปลีกอยู่ภายใต้การบริหารงานออกเป็น 6 กลุ่ม โดยอยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัทในเครือ ทีซีซี กรุ๊ป แต่เนื่องจากมีหน่วยธุรกิจมาก จึงทำให้การบริหารงานไม่ชัดเจน ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้จึงได้ยุบธุรกิจเหลือเพียง 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ดูแลพันธุ์ทิพย์ ตะวันนา ไอทีซิตี้ และกลุ่มที่ดูแล เอเชียทีค-เกตเวย์ โดยเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา บริษัทแม่ทีซีซี กรุ๊ป เพิ่งได้โอนกลุ่มธุรกิจเกตเวย์ให้อยู่ภายใต้การบริหารงานของกลุ่มที่ดูแลเอเชียทีค
เมื่อปรับโครงสร้างธุรกิจเรียบร้อย "เจริญ" ก็วางแผนนโยบายการดำเนินธุรกิจค้าปลีกทันทีรวด 5 ปี (2558-2562) เริ่มต้นด้วยการปรับปรุงเอเชียทีคและเกทเวย์ รวมไปถึงการขยายโครงการค้าปลีกทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ภายใต้งบประมาณการลงทุนรวมกว่า 12,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของเงินที่จะนำมาลงทุนดังกล่าว จะเป็นการกู้จากบริษัทแม่ ทีซีซี กรุ๊ป 100% ในอัตราดอกเบี้ย 5-6% ตามตลาด
นายณภัทร เจริญกุล กรรมการผู้จัดการกลุ่มรีเทล บริษัท ทีซีซี แลนด์ จำกัด กล่าวว่า งบลงทุนกว่า 12,000 ล้านบาท จะแบ่งเป็นขยายการลงทุนโครงการเอเชียทีค เฟส 2 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบโครงการบนพื้นที่ 16 ไร่ เพื่อเติมเต็มโครงการในส่วนของเฟสแรก และตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติให้มีความครบวงจรมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันโครงการเอเชียทีคในเฟสแรก ยังไม่มีสินค้าประเภทร้านอาหารสำหรับครอบครัว ร้านเสื้อผ้าแฟชั่น และเสื้อผ้าแบรนด์
นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะพัฒนาโรงแรมภายในโครงการเอเชียทีค เพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นิยมเดินทางเข้ามาพักริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังมีแผนที่จะสร้างห้องจัดประชุมและสัมมนา เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าไมซ์ (MICE) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ต้องการจัดกิจกรรมทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน เบื้องต้นคาดว่าพร้อมเปิดตัวโครงการในเฟสที่ 2 ภายในปี 2559 ภายใต้งบลงทุนรวมทั้งค้าปลีกและโรงแรมไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท
สำหรับโครงการเอเชียทีค เฟส 3 บริเวณแถบฝั่งเจริญนคร บริษัท ทีซีซี แลนด์ ได้เตรียมงบไว้ประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการปรับปรุงพื้นที่และก่อสร้างโครงการ ซึ่งนอกจากจะมีพื้นที่ค้าปลีกแล้วยังจะมีการก่อสร้างโรงแรมอีก 2 โครงการ จำนวน 300 - 600 ห้อง ซึ่งในโครงการนี้จะมีห้องประชุมที่รองรับลูกค้ากลุ่มไมซ์ ภายหลังพบว่านักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวมีความต้องการบริการด้านนี้มากขั้น
นายณภัทร กล่าวว่า วันนี้บริษัทมีความภาคภูมิใจอย่างมากที่สามารถพลิกโฉมการพัฒนาที่ดินริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้กลับมามีคุณภาพทางเศรษฐกิจขึ้นอีกครั้ง และจะยังคงมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะและประเทศชาติสูงสุด ดังเช่นความสำเร็จในการยกระดับการเป็น Night Market ที่มีมาตรฐานระดับโลก ทั้งในแง่ของความสะอาด ความเป็นระเบียบ สีสัน คุณภาพสินค้า/บริการ และความปลอดภัย ซึ่งความสำเร็จเหล่านี้ คือ สิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพของทีมงานเอเชียทีคที่สามารถสร้างโกดังเก่ารกร้างริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
ปัจจุบันเอเชียทีคมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการในวันธรรมดาอยู่ที่ประมาณ 15,000 คน และวันหยุด 30,000 คนต่อวัน แต่หากมีการจัดกิจกรรมการตลาดในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น สงกรานต์, ลอยกระทง และเคานท์ดาวน์ จะส่งผลให้มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการต่อสันสูงถึง 200,000 คน ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงมีแผนที่จะจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นยอดการเข้ามาใช้บริการ
จากความสำเร็จดังกล่าว ปัจจุบันเอเชียทีค ได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยว องค์กร และนักลงทุนต่างประเทศ จนเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่ต้องระบุไว้ในตารางการท่องเที่ยวของบริษัททัวร์ต่างๆ กว่า 300 บริษัท ทำให้มีปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของ Tour group, FIT, MICE ทั้งยังได้รับเกียรติจากองค์กรต่างประเทศในการนำเอเชียทีคไปประชาสัมพันธ์ในทุกทวีปของโลก
โดยล่าสุด เอเชียทีค ได้รับเลือกจาก Trip Advisor ในการเป็น First Shopping Partner แห่งแรกของโลก อีกทั้งที่ผ่านมา ได้มี ราชวงศ์ ผู้บริหารประเทศจากทั่วทุกมุมโลกให้เกียรติมาเยือนอย่างต่อเนื่อง และได้รับการติดต่อแล้วจากนักลงทุนรายใหญ่จาก 4 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา ในการเชิญเอเชียทีคไปเปิดโครงการในประเทศนั้นๆ
ส่วนการปรับปรุงศูนย์การค้าเกตเวย์ เอกมัย ได้เตรียมงบไว้ที่ประมาณ 500 ล้านบาท ในการปรับปรุงพื้นที่ของศูนย์การค้า เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่อาศัยอยู่บริเวณพระโขนง ทองหล่อ เอกมัย และพระราม 4 ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง ด้วยเหตุนี้ บริษัท ทีซีซี แลนด์ จึงเล็งเห็นโอกาสในการเข้ามาทำกิจกรรมการตลาดภายในศูนย์การค้าดังกล่าวอย่างจริงจัง ด้วยการปรับรูปแบบของศูนย์การค้าให้เป็นคอมมูนิตี้ ช็อปปิ้ง เซ็นเตอร์ นำสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากขึ้น
นายณภัทร กล่าวว่า การปรับรูปแบบของ เกทเวย์ เอกมัย เป็นการปรับในเชิง Market Repositioning คือ การคงชื่อแบรนด์และลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเดิมของโครงการไว้ หากแต่ปรับส่วนผสมภายในของโครงการให้ตอบสนองต่อพฤติกรรมของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด โดยรูปแบบของ เกทเวย์ เอกมัย จะปรับเปลี่ยนเป็นคอมมูนิตี้ ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ แห่งแรกของเมืองไทย โดยรูปแบบดังกล่าวเป็นรูปแบบลูกผสมระหว่าง คอมมูนิตี้ มอลล์ และช้อปปิ้งเซ็นเตอร์
รูปแบบค้าปลีกดังกล่าว ถือเป็นรูปแบบที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในต่างประเทศ เพราะสามารถตอบโจทย์ลูกค้าชุมชนได้อย่างลงตัวที่สุด และสามารถลดจุดอ่อนของรูปแบบคอมมูนิตี้ มอลล์ ซึ่งมีขนาดเล็กเกินไป เนื่องจากจะมีพื้นที่ขายประมาณ 6,000 - 8,000 ตร.ม. ทำให้มีร้านค้าในโครงการน้อยจนเกินไป ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้อย่างครบถ้วน
ในขณะเดียวกันก็พยายามที่จะลดจุดอ่อนของรูปแบบช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ ที่มีขนาดใหญ่เกินไป เพราะโครงการส่วนใหญ่จะมีพื้นที่ขายประมาณ 60,000 - 100,000 ตร.ม. ทำให้ลูกค้าเสียเวลาในการเข้าไปใช้บริการ โดยคอมมูนิตี้ ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ ส่วนใหญ่จะมีขนาดพื้นที่ขายประมาณ 25,000 - 35,000 ตร.ม. ตอบโจทย์ครบครันทั้งในส่วนของความต้องการพื้นฐาน และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เนื่องจากมีความหลากหลายในจำนวนร้านค้า ทำให้ลูกค้าสามารถมาใช้บริการได้บ่อยขึ้น และที่สำคัญคือลูกค้าไม่ต้องใช้เวลานาน การตอบสนองความต้องการในบรรยากาศเป็นกันเองเหมือนบ้านที่สองของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
สำหรับแผนของการปรับศูนย์การค้าดิจิตอล เกตเวย์ สยาม ได้เตรียมงบประมาณไว้ราว 150 ล้านบาท เพื่อทำการรีแบรนด์ชื่อศูนย์การค้าใหม่จาก “ดิจิตอล เกทเวย์ สยาม สแควร์” เป็น “เซ็นเตอร์ พอยท์ ออฟ สยาม สแควร์” เพราะหลังจากเปิดให้บริการมากว่า 5 ปี พบว่าการจำหน่ายสินค้าไอทีภายในศูนย์การค้าแห่งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ จึงได้มีการปรับคอนเซ็ปต์ใหม่ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 15 - 25 ปี ด้วยการจำหน่ายเครื่องสำอาง หรือแก็ดเจ็ตต่างๆ
การออกมารีแบรนด์ชื่อศูนย์การค้า “ดิจิตอล เกทเวย์ สยาม สแควร์” เป็น “เซ็นเตอร์ พอยท์ ออฟ สยาม สแควร์” ในครั้งนี้ถือเป็นการปลุกตำนานจุดศูนย์รวมของวัยรุ่นที่มีชื่อเสียงที่สุดกลับมาอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเซ็นเตอร์ พอยท์ ออฟ สยาม สแควร์ จะนำเสนอบรรยากาศความเป็นสถานที่สำหรับวัยรุ่นอย่างแท้จริง โดยโครงการจะเน้นไปที่วัยรุ่นอายุตั้งแต่ 15 ปี จนถึง First Jobber อายุประมาณ 25 ปี
ดังนั้นร้านค้าและการตกแต่งทั้งภายในและภายนอก จะมุ่งเน้นความเป็น Beauty Fashion เป็นสำคัญ ร้านค้าภายในจะเริ่มทยอยปรับเปลี่ยนตั้งปลายปี 2557 นี้ ไปจนถึงกลางปี 2558 โดยพื้นที่ด้านหน้าโครงการได้จัดให้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมของเหล่าวัยรุ่นและสถานที่พบปะ และ Hang Out ของวัยรุ่นอีกด้วย ทีมงานเชื่อมั่นว่าการกลับมา เซ็นเตอร์ พอยท์ ออฟ สยาม สแควร์ จะยิ่งใหญ่เหมือนในอดีต สมดั่งการเป็นจุดศูนย์กลางของสยามสแควร์ต่อไป
นอกจากจะมุ่งเน้นการปรับปรุงศูนย์การค้าเก่าให้มีความทันสมัยและตรงกับความต้องการของลูกค้าแล้ว บริษัท ทีซีซี แลนด์ ยังมีแผนที่จะขยายศูนย์การค้าเกตเวย์แห่งใหม่อีก 1 สาขา ในแนวรถไฟฟ้าย่านชานเมือง เบื้องต้นคาดว่าจะต้องใช้งบลงทุนประมาณ 2,000 - 2,500 ล้านบาท พร้อมกันนี้ยังมีแผนที่จะเปิด “เอเชียทีค ไทม์” ในพัทยาและหัวหิน บนพื้นที่แห่งละ 15 ไร่ รวมมูลค่าการลงทุนไม่เกิน 1,000 ล้านบาท เนื่องจากขนาดของพื้นที่เล็กกว่าที่กรุงเทพฯ ส่วนรายละอียดอื่นๆ ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการวางแผนโครงการ
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ได้ลงทุนในโครงการต่างๆ ภายใต้งบประมาณรวมกว่า 12,000 ล้านบาท คาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า จะทำให้ธุรกิจค้าปลีกมีรายได้จากการจัดเก็บค่าเช่าพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 1,200 ล้านบาท จากปัจจุบันมีรายได้จากทั้ง 3 โครงการ อยู่ที่ 500 ล้านบาท และภายในอีก 5 ปี คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ 2,000 ล้านบาท โดยในอนาคตจะยังมีการพัฒนาธุรกิจค้าปลีกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกหลายโครงการ ซึ่งถือเป็นการเดินตามนโยบายของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี
นายนภัทร กล่าวปิดท้ายว่า จากประสบการณ์และการต่อสู้ตลอดหลายปีที่ผ่านมาของทีมงานเอเชียทีค ทำให้บริษัทเข้าใจพฤติกรรมความต้องการของลูกค้า ตลอดจนความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาโครงการรูปแบบใหม่ๆ นำเสนอสู่ตลาดเมืองไทย และที่สำคัญคือความแข็งแกร่งของบริษัทแม่ ทำให้บริษัทมั่นใจว่าทั้ง 3 โครงการที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับโครงการเอเชียทีค และด้วยการเป็น Prime Location ของอีก 2 โครงการ คือใจกลางสยามสแควร์ และใจกลางย่านทองหล่อ-เอกมัย-พระโขนง เมื่อเทียบกับโลเคชั่นของเอเชียทีคก่อนเริ่มพัฒนายิ่งทำให้ทีมงานมั่นใจในความสำเร็จหลังการปรับปรุงและพัฒนาเสร็จสิ้น และจะเป็นแบรนด์ที่ทีมงานจะใช้ในการต่อยอดสาขาอื่นๆ ต่อไปในอนาคต
การออกมาปรับแผนรุกของ เจริญ สิริวัฒนภักดี ครั้งนี้ จะช่วยปลุกให้ธุรกิจค้าปลีกประสบความสำเร็จเหมือนธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้หรือไม่นั้น คงต้องรอวัดผลนับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป เพราะธุรกิจนี้ถือเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันรุนแรง ขณะที่คู่แข่งในตลาดเองก็มีความแข็งแกร่งอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นค่ายเดอะมอลล์ เซ็นทรัล หรือสยามพิวรรธน์ ซึ่งแต่ละค่ายต่างออกมาใช้งบก้อนโตขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องเช่นกัน แต่ไม่ว่าการแข่งขันจะรุนแรงแค่ไหน ใครได้ประโยชน์ ใครจะเพี้ยงพร้ำ คงยังอยู่ที่การตัดสินใจของผู้บริโภค
ข่าวเด่น