เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ลุ้น กนง. "หั่นดอกเบี้ย" รับลูกมาตรการ "ของขวัญปีใหม่"


ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจมีมติให้ลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับร้อยละ 1.75 ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ หลังเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดมาก และเงินเฟ้อร่วง เปิดทางให้นโยบายการเงินเสริมทัพมาตรการทางเศรษฐกิจของคลังรับปีใหม่ 

 
คงปฏิเสธยากว่า รายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของสศช. หรือ จีดีพีไตรมาสที่ 3/2557 ออกมาน่าผิดหวังในสายตาของหลายฝ่าย โดยตัวเลขชี้ว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพียงร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทำให้ทั้งปีนี้ สศช. มองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1.0 จากเดิมที่ให้ไว้ในช่วงร้อยละ 1.5-2.5 ทางด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีเองก็ประเมินว่าตัวเลขจีดีพีทั้งปี 2557 จะออกมาที่ร้อยละ 0.6-0.8 เท่านั้น เพราะถึงแม้เราจะได้เห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นในช่วงไตรมาสสี่ของปีนี้ แต่ก็ไม่สามารถชดเชยได้พอกับภาวะซึมเซาในช่วงสามไตรมาสแรกของปีได้
 
เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันจึงเปรียบเหมือนคนป่วยที่เพิ่งออกจากโรงพยาบาล (จากที่จีดีพีในช่วงครึ่งแรกของปีไม่มีการเติบโต) จึงต้องให้เวลาฟื้นฟูร่างกายอีกสักระยะก่อนจะกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง แต่แรงส่งทางเศรษฐกิจซึ่งยังไม่เข้มแข็งพอนี่เอง ที่ทำให้ความหวังที่จะได้เห็นจีดีพีไทยรีบาวนด์ในระดับร้อยละ 4 ในปีหน้าลางเลือนลง ด้านภาคต่างประเทศก็ยังมีความกังวลกับเศรษฐกิจยุโรป ญี่ปุ่น และจีนอยู่
 
แม้รัฐบาลจะได้ออกมาตรการ “ของขวัญปีใหม่” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ การลดภาษีสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) และ การตั้งนาโนไฟแนนซ์เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย แต่แรงกระตุ้นต่อเศรษฐกิจจริงก็อาจจะมีไม่มากนัก เนื่องจากเม็ดเงินในโครงการต่างๆ ที่ประกาศออกมาดูเหมือนจะไม่สูงมาก นอกจากนั้น เศรษฐกิจภาครัฐยังคิดเป็นเพียงประมาณร้อยละ 15 ของจีดีพีไทย นั่นหมายความว่า การเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐร้อยละ 1 จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.15 เท่านั้น จึงไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางเศรษฐกิจได้อย่างทันใจ
 
แน่นอนว่าการที่เศรษฐกิจขาดโมเมนตัมดังกล่าว จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความกังวลให้กับ กนง. และอาจถึงเวลาที่นโยบายการเงินต้องออกโรงอีกครั้งหนึ่ง โดย กนง. มีช่องที่จะลดดอกเบี้ยได้อีกร้อยละ 0.25 อย่างสบายๆ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 2.6 ในเดือน พ.ค. มาอยู่ที่ร้อยละ 1.3 ในเดือนพ.ย. สาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบร่วงลงจากระดับประมาณ 100 ดอลลาร์ต่อบาเรลล์ มาอยู่แถวๆ 65 ดอลลาร์ ในปัจจุบัน จากการศึกษาของเราพบว่า หากกลุ่มโอเปคยังยืนยันหนักแน่นว่าจะไม่มีการลดกำลังการผลิต ราคาน้ำมันอาจจะร่วงไปได้ถึง 58 ดอลลาร์ต่อบาเรลล์ เป็นปัจจัยถ่วงสำคัญของระดับเงินเฟ้อของไทยในปีหน้า 
 
ประเด็นที่น่าติดตามอย่างมากอีกประเด็นหนึ่งก็คือการที่ ธปท. จะปรับมาดูแลอัตราเงินเฟ้อทั่วไปแทนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน) โดยกรอบเงินเฟ้อที่พูดถึงกัน อยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 - 4.5 นั่นหมายความว่า หากราคาน้ำมันยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจอยู่ต่ำกว่ากรอบของแบงก์ชาติตั้งแต่เริ่มใช้กรอบใหม่ทันที ซึ่งแม้กรอบดังกล่าวจะตั้งไว้สำหรับค่าเฉลี่ยของเงินเฟ้อตลอดทั้งปี แต่ถ้าหากเงินเฟ้อไม่กลับมาเป็นขาขึ้นก็อาจจะทำให้อัตราเงินเฟ้อปี 2558 ไม่เป็นไปตามเป้าหมายได้ นี่จึงอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ กนง. ตัดสินใจลดดอกเบี้ยในการประชุมในวันที่ 17 ธ.ค. นี้
 
การประชุม กนง. ครั้งนี้ นับว่าต้องจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะมีผลโดยตรงต่อทิศทางดอกเบี้ย เพราะหากมีการหั่นดอกเบี้ยจริง ภาวะดอกเบี้ยของไทยจะไม่กลับมาเป็นขาขึ้นจนกระทั่งปี 2559 เรียกว่า ภาวะดอกเบี้ยต่ำในปัจจุบันจะลากยาวไปอีกทั้งปีหน้าเลยทีเดียว
 

 

บันทึกโดย : วันที่ : 12 ธ.ค. 2557 เวลา : 18:44:32
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 11:38 am