แม้ว่าการแข่งขันของธุรกิจคลินิกความงามจะแข่งขันกันรุนแรง เนื่องจากในแต่ละปีมีผู้ประกอบการเกิดใหม่เป็นจำนวนมาก เพราะการขอใบอนุญาตประกอบการวิชาชีพและการขออนุญาตดำเนินธุรกิจความงามที่ค่อนข้างง่าย จึงให้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่เปิดคลินิกความงามมากกว่า 1 หมื่นสาขาทั่วประเทศ หรือเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10 - 20%
จากแนวโน้มดังกล่าว ทำให้ธุรกิจคลินิกความงามขาดคุณภาพ เนื่องจากในแต่ละปีจะมีแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังจบการศึกษาเพียง 20 - 30 คนเท่านั้น ถือว่าไม่สอดคล้องกับจำนวนแพทย์เฉพาะทางที่จบมา ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าวภาครัฐควรออกมาดูแลมาตรฐานของการบริการคลินิกความงามอย่างจริงจัง เนื่องจากปี 2558 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จะทำให้มีต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น หากภาครัฐมีการควบคุมมาตรฐานคลินิกความงาม เพื่อป้องกันเหตุร้าย ธุรกิจคลินิกความงามของประเทศไทยน่าจะได้รับความนิยมจากต่างชาติมากขึ้น จากปัจจุบันได้รับความนิยมอยู่ในอันดับต้นๆ ของภูมิภาคอยู่แล้ว
นางกนกวรรณ เศรษฐพงศ์วนิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท เคดี้โกรว์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดรวมของธุรกิจคลินิกเสริมความงามในประเทศไทย มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งรวมตั้งแต่คลินิกที่มีการดำเนินงานโดยแพทย์เฉพาะทาง และคลินิกความงามทั่วไป ในขณะที่ประเด็นสำคัญกลับกลายเป็น คลินิกความงามที่ดำเนินการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือแพทย์เฉพาะทาง ที่มีความรู้และความสามารถวินิจฉัยโรค และการรักษาโดยตรงกับคนไข้กลับมีน้อยกว่า ธุรกิจที่มีการเปิดเป็นสถาบันความงามที่ดำเนินงานหรือให้บริการโดยเทคนิคการแพทย์หรือเจ้าหน้าที่นั้นกลับมีเป็นจำนวนมาก ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาตามมากับธุรกิจเหล่านี้ เห็นได้จากข่าวตามสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรักษาที่ผิดพลาด หรือส่งผลกระทบต่อผู้ที่ไปใช้บริการ ทำให้เกิดการบาดเจ็บและสูญเสีย นั่นเอง
ดังนั้น สิ่งที่ผู้ใช้บริการควรตระหนักอย่างมาก คือ ความสวย ความงาม ที่กำลังจะไปเลือกใช้บริการนั้น บางครั้งเรื่องของราคา อาจจะเป็นจุดดึงดูดให้ตัดสินใจที่จะใช้บริการ แต่สิ่งที่ควรระมัดระวังอย่างยิ่ง คือ เมื่อใช้บริการไปแล้วอาจจะเกิดผลเสียต่อสุขภาพและร่างกายของผู้ใช้บริการได้ หากเลือกสถานบริการที่ไม่มีคุณภาพและมาตรฐาน หรือไม่ได้มีแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีความรู้ความสามารถในการให้บริการจริงๆ
อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาที่ "เคดี้โกรว์" คลินิกผิวหนัง และเลเซอร์ความงาม ได้เปิดให้บริการถือว่าประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี เนื่องจาก เคดี้โกรว์ เป็นสถาบันบริการด้านผิวหนังและความงามที่มีคุณภาพ โดยมีจุดเด่น คือ การวิเคราะห์ การรักษาให้ตรงกับปัญหาของลูกค้า และถูกต้องตามหลักทางการแพทย์ ทำให้ได้ผลการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าที่มาใช้บริการ
ปัจจุบัน เคดี้โกรว์ คลินิก มีฐานลูกค้าหลักเป็นกลุ่มลูกค้าในระดับพรีเมี่ยมประมาณ 2,000 ราย แบ่งเป็นลูกค้าในไทยประมาณ 70% และต่างชาติ ประมาณ 30% ซึ่งตลอดระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และสำหรับปีนี้มีอัตราการขยายตัวของธุรกิจมากขึ้นประมาณ 40% โดยคาดว่าสามารถสร้างยอดรายได้รวมประมาณ 30 ล้าน
นางกนกวรรณ กล่าวต่อว่า แผนการดำเนินธุรกิจในปี 2558 ของทางบริษัท เคดี้โกรว์ จำกัด ได้วางแผนการขยายธุรกิจเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของคลินิกที่ให้บริการผิวพรรณและความงาม และอีกส่วน คือ การขยายตลาดด้านผลิตภัณฑ์ โดยจะมีการเปิดตัว 2 ผลิตภัณฑ์แรกในปีนี้ และในปีหน้าจะมีการทยอยเปิดตัวสินค้าใหม่เข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ทางบริษัทได้ทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นของตนเอง โดยเป้าหมายที่วางไว้ในปี 2558 หากพิจารณาจากการเติบโตในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คาดว่า การขยายการเติบโตทางธุรกิจในส่วนของการให้บริการด้านความงามและผิวพรรณ น่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีนี้ประมาณ 20 - 30% หรือคิดเป็นมูลค่ารายได้รวมน่าจะประมาณ 40 ล้านบาท ส่วนอัตราการเติบโตของยอดขายผลิตภัณฑ์ด้านความงามโดยรวม ในเบื้องต้นช่วงทดสอบตลาดนี้ ตั้งเป้าไว้ประมาณ 10 ล้านบาท
ปัจจัยที่ทำให้ บริษัท เคดี้โกรว์ หันมาผลิตสินค้าความงามเข้าทำตลาดด้วย เพราะว่าตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่าน ที่ได้เข้ามาทำธุรกิจคลินิกความงาม ได้เห็นถึงผลกระทบจากลูกค้าที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพ และต้องมาทำการรักษาเป็นจำนวนมาก จึงเล็งเห็นโอกาสด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมาเอง โดยทางทีมแพทย์ของเคดี้โกรว์ เพื่อให้ได้สินค้าที่เหมาะสมกับผิวพรรณของลูกค้าที่จะมาใช้บริการ และตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด
ด้าน นายปรนนท์ ฐิตะวรรโณ ประธานกรรมการ บริษัท เคดี้โกรว์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจคลินิกแพทย์เฉพาะทางภายใต้ชื่อ "เคดี้โกรว์ คลินิก" กล่าวว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจของคลินิกเคดี้โกรว์ นับจากนี้ จะหันมาดำเนินธุรกิจอย่างจริงจังมากขึ้น หลังจากทดลองทำตลาดมา 2 ปีในสาขาแรกที่ย่านทองหล่อ ด้วยการเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าระดับพรีเมี่ยม (บน) พบว่า ได้ผลการตอบรับที่ดี ดังนั้นในปี 2558 จึงมีแผนที่จะขยายสาขาเคดี้โกรว์ คลินิก เพิ่มอีกประมาณ 1 -2 สาขา ภายใต้งบลงทุนสาขาละ 20 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัท เคดี้โกรว์ ยังมีแผนที่จะเปิดคลินิกในรูปแบบของซับแบรนด์ อีกประมาณ 2 - 3 สาขาในปีหน้า ภายใต้งบลงทุนรวม 20 ล้านบาท เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายระดับกลางและเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าดังกล่าวเป็นตลาดที่ใหญ่ และยังมีช่องว่างให้เข้าไปทำตลาดอีกมาก
ขณะเดียวกัน ยังมีแผนที่จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ความงามอีก 4 รายการ เข้ามาทำตลาดเพิ่มเติม จากเดิมทำตลาดอยู่ 2 รายการ คือ ครีมกันแดด และ เซรั่มบำรุงผิว ขณะเดียวกันก็มีแผนที่จะขยายช่องทางจำหน่ายผ่านเคาน์เตอร์เครื่องสำอางของเคดี้โกรว์ ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการได้ในปลายปี 2558
หลังจากบริษัท เคดี้โกรว์ เดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องคาดว่าสิ้นปี 2558 น่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 80 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากบริการ 60 ล้านบาท และการขายผลิตภัณฑ์ 20 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสิ้นปีนี้ที่คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ 40 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 100 ล้านบาท ภายในปี 2559 แบ่งเป็นรายได้ที่มาจากลูกค้าในประเทศ 50% และต่างประเทศ 50% ขณะที่ปีนี้มีรายได้จากลูกค้าในประเทศ 70% ต่างประเทศ 30%
จุดเด่นของเคดี้โกรว์ ที่ดึงออกมา ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริการหรือสินค้าที่ผลิตเข้ามาทำตลาด ทำให้บริษัท เคดี้โกรว์ มั่นใจว่า นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป คลินิกเคดี้โกรว์ และผลิตภัณฑ์ดูแลผิวของเคดี้โกรว์ ที่จะผลิตเข้ามาทำตลาดทั้งในส่วนของร้านขายยา คลินิกความงามของเคดี้โกรว์ และเคาน์เตอร์เครื่องสำอางของเคดี้โกรว์ที่จะเปิดตัวเข้าทำตลาดในเร็วๆ นี้ ทุกช่องทางจะได้ผลการตอบรับที่ดีจากลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นระดับบนที่มีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว หรือระดับกลางที่จะเข้าไปทำตลาดมากขึ้นในปีหน้า
ส่วนยอดขายจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ คงดูที่ผลิตภัณฑ์ดีเพียงอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้การทำกิจกรรมการตลาด เพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก และให้ผู้บริโภคได้เกิดการทดลองใช้ จึงมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับยุคการแข่งขันที่รุนแรงในขณะนี้ เพราะถ้าหากสินค้าดี การตลาดโดน ยอดขายก็เตรียมเข้ากระเป๋าแบบเต็มๆ
อย่างไรก็ดี ในขณะที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนกำลังเดินหน้าสร้างมาตรฐานคุณภาพทั้งในด้านของผลิตภัณฑ์และบริการ ในส่วนของภาครัฐเอกงก็ควรเข้มงวดเข้ามาตรวจสอบ ดูแลคลินิก และผลิตภัณฑ์ความงามที่ขาดคุณภาพอย่างจริงจัง เพราะจากปัญหาที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเสียหาย และทำให้ธุรกิจคลินิกความได้รับผลกระทบในด้านของความเชื่อมั่น โดยเฉพาะในสายตาของต่างชาติ
ข่าวเด่น