"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" คาดเม็ดเงินจับจ่ายของคนกรุงเทพฯช่วงปีใหม่ สะพัดไม่ต่ำกว่า 25,000 ล้านบาท แม้ยังกังวลเรื่องค่าครองชีพ เผย "กระเช้า"ยังครองตำแหน่งของขวัญปีใหม่ยอดนิยม จับตาสติ๊กเกอร์ไลน์เป็นของขวัญปีใหม่มาแรงปี 2558
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยผล สำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนที่พำนักอาศัยในกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ปี 2558 ระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2557 จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 404 ราย ที่มีอายุระหว่าง 15-64 ปี พบว่า บรรยากาศในช่วงเทศกาลปีใหม่ปี 2558 กลุ่มตัวอย่างที่สำรวจมีการวางแผนที่จะเข้าร่วมและจัดกิจกรรมฉลองปีใหม่ในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 76.0 และมีเพียงร้อยละ 24.0 เท่านั้น ที่ไม่มีการวางแผนและต้องการร่วมงานกิจกรรมต้อนรับปีใหม่ ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า มีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณและใช้เวลาทำกิจกรรมอื่นๆ ฯลฯ
โดยกิจกรรมที่คนกรุงเทพส่วนใหญ่นิยมทำในช่วงเทศกาลปีใหม่ยังคงเป็นการนัดหมายญาติ/เพื่อนฝูง เพื่อเลี้ยงฉลองทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 90.0 รองลงมาคือ การจัดเตรียมโปรแกรมสำหรับท่องเที่ยว/กลับบ้านต่างจังหวัด ทำบุญ/ไหว้พระ และซื้อของขวัญให้กับบุคคลต่างๆ ตามลำดับ ทั้งนี้ร้อยละ 46.0มองว่า “ค่าครองชีพ” ยังมีนัยสำคัญต่อการกำหนดงบประมาณและพฤติกรรมในการจับจ่ายใช้สอยของคนกรุงเทพฯ ปี 2558 ภายใต้การเฉลิมฉลองที่ยังคึกคักเหมือนเช่นทุกปี สะท้อนจากพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันที่หันมาประหยัดค่าใช้จ่าย ลดการจับจ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยลง และให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านราคาและคุณภาพในการเลือกซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้น รองลงมาคือ ความไม่สะดวกในการเดินทาง ร้อยละ 29.0 และหนี้สินครัวเรือน ร้อยละ 25.0
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เม็ดเงินค่าใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 ของคนกรุงเทพฯ จะสะพัดไม่ต่ำกว่า 25,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.2 จากปีก่อน เนื่องจากวันหยุดราชการที่ยาวติดต่อกันถึง 5 วัน ในขณะที่บางส่วนอาจจะมีการวางแผนลาหยุดติดต่อกันถึง 9 วัน ไปพร้อมๆ กับการวางแผนการใช้จ่ายในการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างระมัดระวังท่ามกลางกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน
โดยแยกเป็นค่าใช้จ่ายอาหารและเครื่องดื่ม 8,300 ล้านบาท รองลงมาคือ ท่องเที่ยว (เฉพาะค่าที่พักและค่าเดินทาง) 6,000 ล้านบาท การให้เงินพ่อแม่/พี่น้องเป็นของขวัญปีใหม่ 4,700 ล้านบาท ซื้อของขวัญ/ของฝาก 3,600 ล้านบาท และทำบุญ/ไหว้พระ 2,400 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงงบประมาณในการเฉลิมฉลองสังสรรค์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พบว่า ในปีนี้คนกรุงเทพฯ มีแนวโน้มใช้งบประมาณโดยรวมเฉลี่ยคนละ 6,300 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่เฉลี่ยอยู่ที่คนละ 5,700 บาท โดยงบประมาณที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงค่าท่องเที่ยว (เฉพาะค่าที่พักและค่าเดินทาง) รวมกันกว่าร้อยละ 58.0 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการเลือกซื้อของขวัญ/ของฝาก และค่าทำบุญ/ไหว้พระ กลับมีแนวโน้มลดลง
โดยผลการสำรวจ ระบุด้วยว่า “กระเช้าของขวัญ” เป็นสินค้าที่คนกรุงเทพฯ ต้องการซื้อเพื่อมอบเป็นของขวัญในช่วงเทศกาลปีใหม่มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 61.0 โดยเฉพาะการซื้อเพื่อมอบให้เป็นของขวัญปีใหม่สำหรับกลุ่มองค์กรและผู้หลักผู้ใหญ่ ในขณะที่งบประมาณในการเลือกซื้อกระเช้าของขวัญของคนกรุงเทพฯ ในปีนี้อยู่ที่ระดับราคาเฉลี่ย 1,600 บาทต่อกระเช้า ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงตลาดกระเช้าของขวัญปีใหม่ปีนี้ จะเห็นว่ากลยุทธ์ของผู้ประกอบการจะมุ่งเน้นไปที่การออกแพ็คเกจการจัดกระเช้าที่มีความหลากหลายเป็นสำคัญ ซึ่งมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 300 บาท ไปจนถึงราคาระดับพรีเมี่ยมที่สูงถึง 30,000-40,000 บาท เพื่อให้เข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละระดับ
ในขณะที่สินค้าที่ได้รับความนิยมในการมอบเป็นของขวัญในปีนี้รองลงมา ได้แก่ แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน/แท็บเลต (อาทิ Sticker Line, Game) คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 44.0 ซึ่งถือเป็นหนึ่งสินค้าที่น่าจับตาและมาแรงสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นิยมมอบให้กัน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น/วัยทำงาน ซึ่งมีทั้งที่เป็นการดาวน์โหลดฟรี รวมถึงเสียค่าใช้จ่ายที่มีราคาไม่สูงมากนัก (ราคาขั้นต่ำเริ่มต้นที่ประมาณ 30 บาท) อีกทั้งยังตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีสินค้าในกลุ่มเครื่องแต่งกาย อาทิ เสื้อผ้า/เครื่องประดับ และเครื่องใช้ส่วนบุคคล/เครื่องสำอางที่คาดว่าจะได้รับความสนใจในการเลือกซื้อเป็นของขวัญ ตามลำดับ
ข่าวเด่น