เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กสิกรไทยมองทิศทางส่งออกไทย-ญี่ปุ่น ปี 58 คาดขยายตัว -0.2-1.5%


 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ทิศทางการส่งออกไทย-ญี่ปุ่นปี 2558 หลังการเลือกตั้งญี่ปุ่น ดังนี้

 
ประเด็นสำคัญ
•รัฐบาลพรรคเสรีประชาธิปไตย นำโดยนายชินโซ อาเบะได้รับการเลือกตั้งเข้ามาอีกครั้ง หลังจากที่ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นการยุบก่อนหมดวาระถึง 2 ปี โดยการยุบสภาและได้รับเลือกตั้งกลับมาในครั้งนี้มีผลดีต่อรัฐบาล ที่สามารถใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงผลของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใช้ไปในช่วงก่อนหน้าอาจเห็นผลชัดขึ้นในช่วงการอยู่ในตำแหน่งที่ขยายออกไปอีก 4 ปี 
 
•การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของคู่ค้าญี่ปุ่นเป็นตัวแปรช่วยส่งเสริมการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นในกลุ่มสินค้าส่งออกขั้นกลางและวัตถุดิบ อย่างไรก็ดี สำหรับกลุ่มสินค้าเพื่อการอุปโภคและบริโภคยังต้องจับตาการบริโภคของญี่ปุ่นที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเต็มที่ โดยเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ได้แก่ ปัญหาเงินเฟ้อที่ยังต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย และหนี้สาธารณะที่ยังอยู่ระดับสูง นอกจากนี้ การปรับลดความน่าเชื่อถือของมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ต่อญี่ปุ่น อาจส่งผลถึงความเชื่อมั่นด้านการค้าและการลงทุนของประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศที่ยังชะลอตัว
 
•ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นในปี 2558 จะขยายตัวอยู่ที่กรอบร้อยละ -0.2 ถึง 1.5 หรือมีมูลค่าส่งออกราว 17,670-22,420 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (มูลค่าการส่งออกในปี 2557 ประมาณ 22,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 0.6 (YoY))  ในขณะที่การนำเข้าของไทยจากญี่ปุ่นในปี 2558 น่าจะกลับมาเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 4 ถึง 8 หรือมีมูลค่าการนำเข้าราว 37,530-38,970 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (มูลค่าการนำเข้าในปี 2557 ประมาณ 36,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 12.2 (YoY)) จากปัจจัยหลักที่สถานการณ์การเมืองไทยที่นิ่งขึ้น การอ่อนค่าของเงินเยนเมื่อเทียบกับเงินบาท และภาพการส่งออกรวมของไทยที่น่าจะพ้นช่วงต่ำสุดและปรับตัวดีขึ้นในปี 2558
 
ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของญี่ปุ่นที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม หลังการประกาศยุบสภาฯในวันที่ 21 พฤศจิกายนเป็นไปตามคาด โดยรัฐบาลพรรคเสรีประชาธิปไตย นำโดยนายชินโซ อาเบะได้รับการเลือกตั้งเข้ามาอีกวาระหนึ่ง ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้งน่าจะส่งผลดีต่อรัฐบาลในแง่ความต่อเนื่องของการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมไปถึงผลนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใช้ไปในช่วงก่อนหน้าที่อาจเห็นผลชัดขึ้นในช่วง 4 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความกดดันในการสานต่อนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังอยู่ที่การแก้ปัญหาความซบเซาทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ หนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง และล่าสุดถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือโดยมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ซึ่งอาจจะส่งผลถึงความเชื่อมั่นด้านการค้าและการลงทุนของประเทศ ตลอดจนกดดันค่าเงินเยนในทิศทางอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ  ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เข้าสู่ภาวะถดถอยในไตรมาสที่ผ่านมา
 
ท่ามกลางเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เปราะบาง...คาดส่งออกไทยในสินค้าอุตสาหกรรมพลิกเติบโตได้ แต่สินค้าอุปโภคบริโภคขึ้นกับการฟื้นตัวของการบริโภค
 
altถึงแม้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในสองไตรมาสที่ผ่านมาอยู่ในทิศทางหดตัวต่อเนื่อง โดยตัวเลขในไตรมาส 3/2557  หดตัวลงร้อยละ 1.9 (Annualized, SA) หลังจากที่หดตัวร้อยละ 6.8 (Annualized, SA) ในไตรมาสที่ 2/2557 อีกทั้งดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมายังไม่สามารถบอกถึงทิศทางการฟื้นตัวที่ชัดเจน  อย่างไรก็ดี การได้รับเลือกตั้งของพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ที่นำโดยนายอาเบะ และเมื่อรวมกับพรรคร่วมรัฐบาล KOMEITO ด้วยคะแนนเสียงที่มากกว่า 2 ใน 3 จะทำให้การเข้ามาบริหารประเทศของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่สามารถดำเนินนโยบายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างคล่องตัว และเป็นการช่วยสานต่อการดำเนินนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจ “ ลูกศร 3 ดอก” ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นให้ค่อยๆ ดีขึ้นแม้ต้องใช้เวลา 
 
ทั้งนี้ ปัจจัยท้าทายการแก้ปัญหาของรัฐบาล ยังอยู่ที่ปัญหาหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่อยู่ในระดับสูงราวร้อยละ 240 (ข้อมูลปี 2556)  และเป้าหมายเงินเฟ้อร้อยละ 2 ที่ผลจากการขึ้นภาษีการบริโภคกดดันให้เงินเฟ้อห่างไกลเป้าหมายยิ่งขึ้น (ตัวเลขเงินเฟ้อที่ไม่รวมผลของภาษีในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ร้อยละ 0.9 (YoY)) รวมไปถึงเงินเยนที่อ่อนค่าลงจากแผนการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ (QE) ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) นอกจากนี้ การปรับลดความน่าเชื่อถือของมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ต่อญี่ปุ่นที่อาจส่งผลถึงความเชื่อมั่นด้านการค้าและการลงทุนของประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศที่ยังชะลอตัว
 
กระนั้น เมื่อมองไปในปี 2558 การฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าสำคัญที่นำโดยสหรัฐฯ และคำสั่งซื้อสินค้าในจีนที่คาดว่าจะยังมีอยู่ต่อเนื่อง รวมไปถึงการอ่อนค่าของเงินเยน จะสนับสนุนให้ภาคการค้าระหว่างประเทศหรือการส่งออกของญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ขณะเดียวกันการลงทุนก็น่าจะปรับตัวดีขึ้น ท่ามกลางการผ่อนคลายนโยบายการเงินและการคลังของภาครัฐ รวมไปถึงการเลื่อนเวลาปรับขึ้นภาษีการบริโภคไปเป็นปี 2560 จะช่วยประคองโมเมนตัมการใช้จ่ายภาคเอกชนให้ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2558 น่าจะขยายตัวดีขึ้นจากที่เติบโตร้อยละ 0.7  ในปี 2557 มาอยู่ที่ขยายตัวร้อยละ 1.0
 
altจากแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นข้างต้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นในปี 2558 น่าจะทรงตัวในระดับเดียวกันกับปีที่ผ่านมา จากปัจจัยเติบโตจากการฟื้นตัวในตลาดส่งออกหลักของญี่ปุ่นทั้งสหรัฐฯและจีนกลับมาฟื้นตัว ทั้งนี้ การส่งออกจากญี่ปุ่นไปยังสหรัฐฯ กลับมาเติบโต จากที่ชะลอการเติบโตต่อเนื่องนับจากเดือนพฤษภาคม โดยตัวเลขเดือนกันยายนเติบโตร้อยละ 4.4 (YoY) เติบโตต่อเนื่องในเดือนตุลาคมที่ร้อยละ 8.9 (YoY) และร้อยละ 6.8 (YoY)ในเดือนพฤศจิกายน เช่นเดียวกับการส่งออกของญี่ปุ่นไปยังจีนที่พลิกกลับมาขยายตัวในเดือนกันยายนที่ร้อยละ 8.7 (YoY) เติบโตต่อเนื่องร้อยละ 7.2 (YoY) และร้อยละ 0.9 (YoY) ในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ตามลำดับ สำหรับสินค้าส่งออกของไทยในตลาดญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มเติบโตในปี 2558 จะยังคงอยู่ในกลุ่มเม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ทองแดง เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ และอลูมิเนียม ซึ่งอยู่ในกลุ่มสินค้าวัตถุดิบขั้นต้น/กลาง ที่น่าจะเติบโตตามการนำเข้าของญี่ปุ่นในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก
 
สำหรับสินค้าส่งออกในกลุ่มอุปโภคบริโภคของไทยในปี 2558 คาดว่าจะยังได้รับผลกระทบจากภาคการบริโภคของญี่ปุ่นที่ยังหดตัวที่เป็นผลต่อเนื่องจากการขึ้นภาษีการบริโภคเมื่อเดือนเมษายนจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 ตลอดจนความซบเซาทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ตอบสนองนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี โอกาสสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคบางกลุ่มสินค้าในตลาดญี่ปุ่นยังมีศักยภาพเติบโต ได้แก่ สินค้าที่ตอบโจทย์ผู้สูงอายุ ที่มีโอกาสเติบโตจากกำลังซื้อและจำนวนประชากรผู้สูงอายุของญี่ปุ่นที่สูงถึง 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรราว 120 ล้านคน  สินค้าอาหารเกษตร อาทิ กล้วยหอม และน้ำมะพร้าว รวมไปถึง ไก่สดแช่เย็นและแช่แข็ง¬ ที่มีการประกาศยกเลิกการห้ามนำเข้า ประกอบกับราคาที่ต่ำกว่าไก่สดแปรรูป ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้บริโภคญี่ปุ่นที่ต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายการบริโภค
 
อย่างไรก็ดี ผู้ผลิต/ส่งออกสินค้าไทยยังคงต้องจับตาประเทศคู่แข่งที่ขยับแย่งส่วนแบ่งตลาดของไทย อาทิ อินเดียในสินค้ากลุ่มกุ้ง ปู สด แช่เย็น เวียดนามในอาหารทะเลแปรรูป เป็นต้น และเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด รวมไปถึงการขยายฐานลูกค้าในญี่ปุ่น ในระยะข้างหน้า ผู้ประกอบการไทยจะต้องพัฒนาสินค้าเชิงคุณภาพรวมไปถึงการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการผลิตเพื่อให้ได้ตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างจุดเด่นและความแตกต่างของสินค้า รวมไปถึงการยกระดับคู่ค้าให้เป็นพันธมิตรในการทำธุรกิจ 
 
อนึ่ง การอ่อนค่าของเงินเยนน่าจะไม่กระทบต่อการส่งออกของสินค้าไทยโดยรวม จากโครงสร้างที่แตกต่างกันของสินค้าส่งออกไปยังตลาดโลกของไทยเป็นสินค้าส่งออกที่เป็นคนละกลุ่มกับสินค้าส่งออกหลักของญี่ปุ่น การอ่อนค่าของเงินเยนน่าจะช่วยการส่งออกของญี่ปุ่น ในขณะเดียวกัน ไทยก็น่าจะได้อานิสงส์จากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบขั้นต้น/กลาง จากญี่ปุ่นที่นำเข้าเพื่อการผลิตและส่งออกต่อ โดยเฉพาะสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของญี่ปุ่น (Supply chain) ที่จะไม่ได้ผลกระทบ อย่างไรก็ดี สินค้าในกลุ่มอุปโภคบริโภคบางรายการของไทย อาจได้รับผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินบาทที่น้อยกว่าการอ่อนค่าของค่าเงินประเทศคู่แข่งเมื่อเทียบกับเงินเยน ซึ่งอาจทำให้สินค้าจากประเทศคู่แข่ง อาทิ อินโดนีเซีย และ บราซิล มีราคาต่ำกว่าสินค้าไทยโดยเปรียบเทียบ นอกจากนี้ ผู้ส่งออกสินค้าไทยไปญี่ปุ่นอาจได้รับผลกระทบในยอดซื้อที่อาจลดลง และผู้นำเข้าในญี่ปุ่นอาจมีการขอต่อรองราคามากขึ้น เนื่องจากไม่สามารถปรับเพิ่มราคาสินค้าที่ขายในประเทศในภาวะที่ค่าใช้จ่ายผู้บริโภคยังคงได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีการบริโภคในช่วงที่ผ่านมา 
 
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นในปี 2558 จะขยายตัวอยู่ที่กรอบร้อยละ -0.2 ถึง 1.5 หรือมีมูลค่าส่งออกราว 17,670-22,420 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (มูลค่าการส่งออกในปี 2557 ประมาณ 22,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 0.6 (YoY)) ในขณะที่การนำเข้าของไทยจากญี่ปุ่นในปี 2558 น่าจะกลับมาเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 4 ถึง 8 หรือมีมูลค่าการนำเข้าราว 37,530-38,970 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (มูลค่าการนำเข้าในปี 2557 ประมาณ 36,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 12.2 (YoY)) จากปัจจัยหลักที่สถานการณ์การเมืองไทยที่นิ่งขึ้น การอ่อนค่าของเงินเยนเมื่อเทียบกับเงินบาท และภาพการส่งออกรวมของไทยที่น่าจะพ้นช่วงต่ำสุดและปรับตัวดีขึ้นในปี 2558 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 ธ.ค. 2557 เวลา : 12:05:12
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 12:31 pm