ภายหลังจากที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในสิทธิของผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง ซึ่งไม่ใช่ลูกหนี้ชั้นต้นได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2557 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 12 ก.พ.2558 ซึ่งต้องยอมรับว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวจะส่งผลเกี่ยวกับสิทธิของผู้ค้ำประกันและ ผู้จำนอง
โดยในมุมมอง นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เชื่อว่า ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) คงได้รับผลกระทบแน่นอน เนื่องจากปัจจุบันก็หาผู้ค้ำประกันได้ยากอยู่แล้ว แต่การที่มีแนวทางให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. เข้ามาช่วยค้ำประกัน คงต้องติดตามวิธีการปฎิบัติว่าจะเป็นอย่างไร
แต่การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว อาจจะไม่เกิดขึ้นได้ตามแผน หลังจากที่ นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย บอกว่า สมาคมธนาคารไทยจะยื่นหนังสือถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อนำข้อเสนอแนะ กรณี พ.ร.บ.ค้ำประกันฉบับแก้ไข ซึ่งโดยภาพรวมแล้วเป็นเรื่องที่สมาคมฯ เห็นพ้อง แต่เนื่องจากเรื่องดังกล่าว มีความเกี่ยวพันกับคนหลายกลุ่ม จึงทำให้สมาคมฯ ขอนำเสนอข้อแก้ไขในรายละเอียดบางอย่าง เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ มากขึ้น
โดยข้อเสนอแนะมี 2 ประเด็นได้แก่ กรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระและมีการปรับโครงสร้างด้วยการยืดชำระหนี้ ตาม พ.ร.บ.กำหนดให้ต้องแจ้งแก่ผู้ค้ำประกันก่อน สมาคมฯเสนอให้ดำเนินการได้เลย เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้เกิดความล่าช้า อีกประเด็นเป็นกรณีสมาคมฯเสนอให้สินทรัพย์ที่ต้องขายทอดตลาด ต้องผ่านกรมบังคับคดีเท่านั้น เพื่อความโปร่งใส
ขณะที่ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ชี้แจงว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่พิจารณาในรายละเอียด ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นานในการนำเสนอข้อคิดเห็นจาก ธปท.ไปยัง นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยประเด็นที่สมาคมเสนอมานั้น เป็นการขอปรับแก้ไขรายละเอียดบางส่วน ซึ่งที่รับทราบเบื้องต้นเห็นว่า มีความสมเหตุสมผล
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้เองก็มีข้อแนะนำและเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ดังนั้นอาจมีวิธีที่เห็นร่วมกันในการเสนอขอเลื่อนการบังคับใช้ออกไปก่อน จากที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีเวลาหารือและพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนที่จะนำเสนอไปในครั้งเดียวทั้งหมด
ซึ่งการเลื่อนระยะเวลาออกไป ก็ไม่ได้เป็นเรื่องยุ่งยาก เพียงแก้ไขเปลี่ยนแปลงประโยคบรรทัดสุดท้าย ที่มีการระบุถึงวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ โดยเสนอแก้ไข 1 บรรทัดท้ายก่อน หลังจากนั้นเมื่อมีเวลาค่อยนำเสนอขอแก้ในตัวเนื้อหา เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประมวลแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ก็มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
อีกทั้งยังมีอีกหลายฝ่ายที่มีส่วนร่วม เช่น กระทรวงการคลังที่ดูแลทางด้านการเงิน กรรมการพัฒนากฎหมายของกฤษฎีกาที่เป็นฝ่ายส่งเรื่อง รวมถึงสมาคมธนาคารไทย ผู้ค้ำประกันทั้งภาครัฐ และเอกชน ซึ่งอาจมีมุมมองที่แตกต่างกัน ดังนั้นหากมีเวลาได้หารือกัน น่าจะได้ข้อสรุปที่เหมาะสมสำหรับทุกฝ่าย และเรื่องดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนแต่อย่างใด
ข่าวเด่น