เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"ซีไอเอ็มบี ไทย" ชี้ 4 ปัจจัยเสี่ยงน่าห่วง ฉุดการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยปี 58


"ซีไอเอ็มบี ไทย" โล่งใจ กนง.คงดอกเบี้ย ช่วยลดความเสี่ยงเกิดสงครามค่าเงินในภูมิภาค แต่ห่วง 4 ปัจจัย สงครามค่าเงิน วิกฤตรัสเซีย ราคาน้ำมันตกต่ำ การลงทุนภาครัฐล่าช้า เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยปี 2558


 

   
 
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า  การตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ไว้ที่ 2.0 % เมื่อการประชุมวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมานั้น นับว่าเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดเรื่องสงครามค่าเงินในภูมิภาคอาเซียนได้ระดับหนึ่ง เพราะหาก กนง.ตัดสินใจลดดอกเบี้ย เพื่อลดความน่าสนใจของสินทรัพย์ไทย และลดการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเพื่อช่วยผู้ส่งออก ซึ่งอาจจะไม่ได้ผลมากนัก เพราะการส่งออกของไทยยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน แต่จะเป็นการประกาศสงครามค่าเงินในภูมิภาคด้วย

ทั้งนี้ หาก ธปท.ต้องการดูแลค่าเงินบาทให้อ่อนค่าเพื่อช่วยเหลือการส่งออกนั้น มองว่าธปท.อาจจะต้องผ่อนปรนมาตรการการออกไปลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทยให้มากขึ้น เช่น การส่งเสริมการออกไปลงทุนต่างประเทศของบีโอไอ หรือการส่งเสริมให้นักลงทุนรายย่อยที่มีความรู้สามารถออกไปลงทุนในต่างประเทศได้ รวมทั้งต้องมีการเชื่อมโยงตลาดในภูมิภาคให้มากกว่านี้  
 
อย่างไรก็ตาม โอกาสที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับสงครามค่าเงินยังมีอยู่ หากมีการปรับลดดอกเบี้ยในที่ประชุมครั้งต่อๆ ไป ซึ่งค่าเงินบาทเทียบกับการอ่อนค่าของค่าเงินบาทที่ยังน้อยกว่าประเทศอื่น เช่น มาเลเซีย หรือ อินโดนีเซีย แต่ประเทศอื่นมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อเตรียมพร้อมไปแล้วก่อนหน้านี้  

โดยค่าเงินบาทแกว่งตัวในกรอบแคบๆ มาตลอดช่วงที่สหรัฐฯ ดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ แต่หากสหรัฐมีการขึ้นดอกเบี้ย เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าได้ถึงระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงปลายปี 2558 อีกทั้งการที่ญี่ปุ่นผ่อนคลายมาตรการทางการเงินมากขึ้น จะเป็นปัจจัยให้บาทอ่อนค่าได้ แต่กรณีถ้าหาก กนง.ปรับลดดอกเบี้ย เพื่อเดินเกมลดความน่าสนใจของสินทรัพย์ไทย ซึ่งเท่ากับว่าเราประกาศสงครามค่าเงินในภูมิภาคนั้น อาจได้เห็นค่าเงินบาทแตะระดับ 36.00 ต่อดอลลาร์สหรัฐฯได้ 

“ซึ่งทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย อาจจะต้องคงที่ในระดับนี้ไปอีกระยะ หรือจนกว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐในไตรมาส 2 ซึ่งหากมีความชัดเจนก็จะเห็นสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายปี และจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะขยับขึ้นได้ในปลายปีอีก 0.25 %”นายอมรเทพกล่าว
 
 
 
 
นายอมรเทพกล่าวต่อไปว่า นอกจากปัจจัยในเรื่องค่าเงินแล้ว ไทยเผชิญขวากหนามซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจโตช้า อีก 3 ด้าน คือ วิกฤติรัสเซีย โดยเศรษฐกิจรัสเซียมีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า หลังจากที่ถูกสหภาพยุโรปใช้มาตรการคว่ำบาตร อีกทั้งราคาน้ำมันที่ลดลงต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลรัสเซียสูญเสียรายได้หลัก ค่าเงินรัสเซียอ่อนค่าไปเกือบครึ่งจากภาวะเงินไหลออกอันส่งผลให้เกิดวิกฤติค่าเงิน แม้ทางธนาคารกลางรัสเซียจะขึ้นดอกเบี้ยมาถึง 17% แล้วก็ตาม อย่างไรก็ดี รัสเซียไม่ได้เชื่อมโยงกับตลาดการเงินโลกมากเท่าอีกหลายประเทศ จึงยังไม่น่าห่วงว่าวิกฤติการเงินในรัสเซียจะลามไปฝั่งยุโรป 

สำหรับผลกระทบต่อไทยจะมี 3 ด้านหลักๆ คือ ด้านตลาดเงิน การส่งออก และท่องเที่ยว แม้รัสเซียจะไม่ใช่ตลาดพันธบัตรและตลาดส่งออกหลักก็ตาม ไทยส่งออกไปรัสเซียไม่มาก จึงไม่น่าได้รับผลกระทบทางตรง แต่ต้องระวังผลทางอ้อม หากยุโรปซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของรัสเซียชะลอตัว ทำให้การส่งออกของไทยไปยุโรปลดลง การส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนไปรัสเซียอาจได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปีนี้ แต่สินค้าเกษตรที่เติบโตได้ดียังน่าจะเติบโตได้ในปีหน้า 

ด้านตลาดเงิน แม้รัสเซียขึ้นอัตราดอกเบี้ยไป ก็ยังไม่ส่งผลให้เงินรูเบิลมีเสถียรภาพได้ ตลาดกำลังกังวลว่าอาจมีการจำกัดการเคลื่อนย้ายของทุน (capital control) ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อผู้ที่ลงทุนในตลาดพันธบัตรในรัสเซีย แต่ไม่น่ารุนแรงพอที่จะกระทบตลาดพันธบัตรยุโรป หนี้ต่างประเทศของรัสเซียแม้มีมากกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ก็ยังไม่นับว่าจะสามารถก่อให้เกิดวิกฤติการเงินได้หากมีการผิดนัดชำระหนี้ อีกทั้งไม่ได้กระจุกตัวอยู่ประเทศใดประเทศหนึ่งมากจนมีผลให้เกิด Domino effect ได้ 

ทั้งนี้เศรษฐกิจรัสเซียเกี่ยวพันกับราคาน้ำมันค่อนข้างมาก หากราคาน้ำมันลดลงหรืออยู่ในระดับต่ำอาจส่งผลให้ประเทศขาดรายได้จนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้ วิกฤติเศรษฐกิจรัสเซียดูคล้ายวิกฤติปี 1998 ที่เริ่มจากราคาน้ำมันจะลงลงต่ำ ตลาดหุ้นทรุดตัวแรง และเงินอ่อนค่า แต่ประเทศไทยและภูมิภาคน่าจะปลอดภัยจากเงินสำรองที่สูง 

นายอมรเทพ กล่าวว่า อีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศ คือ ราคาน้ำมันลดลงต่อเนื่อง ประเทศไทยนำเข้าสุทธิน้ำมันราว 10% ของ GDP และอาศัยแหล่งพลังงานอื่นไม่มากนัก ดังนั้นแม้ราคาน้ำมันจะลดลง แต่ไทยต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้างพลังงานต่อไป

ในช่วงที่ราคาน้ำมันต่ำ กลุ่มที่ได้ประโยชน์ คือ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและขนส่ง อีกทั้งอุตสาหกรรมที่แปรรูปสินค้าเกษตรพวกยางและปาล์มจะได้ประโยชน์จากต้นทุนที่ต่ำลง ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ คือ อุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่สูง เช่น การขุดเจาะน้ำมันและแก็สธรรมชาติ รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรเช่นยาง ปาล์ม อ้อย และข้าว อาจลดลงตามราคาน้ำมัน ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ต่ำต่อไป ซึ่งอุตสาหกรรมค้าปลีกในต่างจังหวัดจะได้รับผลกระทบนี้ด้วยเช่นกัน 

ส่วนผลดีอื่นๆ จากราคาน้ำมันลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตได้ประโยชน์จากต้นทุนที่ต่ำลง และเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ซึ่งจะสนับสนุนการบริโภคของมนุษย์เงินเดือน 

 
 
 
นายอมรเทพ กล่าวว่า ขณะที่ความเสี่ยงในประเทศนั้น เรื่องสำคัญ คือ ความรวดเร็วในการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ หากทำได้ก็จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยได้ แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะแม้มีการลงทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน การลงทุนในปีหน้ายังคงเร่งตัวได้ไม่แรงนัก จากขั้นตอนการเบิกจ่ายงบ และจากสภาพคล่องในตลาดการเงินที่จะเริ่มตึงตัวมากขึ้นตามการเร่งตัวของสินเชื่อเมื่อเศรษฐกิจฟื้น 

“การลงทุนภาครัฐจะมาต้นปีหน้า แต่ขอฝาก 2 เรื่อง 1.ขอฝากภาครัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เอกชนให้ได้ว่าจะลงทุนระยะยาวต่อ แม้มีการเปลี่ยนรัฐบาล โครงการลงทุนจะดำเนินต่อไป 2. ขอเตือนเอกชนว่าอย่าไปรอภาครัฐอย่างเดียว เพราะถ้าคุณรอ อย่าลืมว่าปีหน้าสภาพคล่องตึงตัว ต้นทุนการเงินจะสูงขึ้น ถ้ามั่นใจน่าจะใช้โอกาสช่วงนี้ลงทุน” นายอมรเทพ กล่าว
 
นายอมรเทพกล่าวต่อว่า โดยสรุปแล้ว เศรษฐกิจไทยปี 2558 จะเติบโตช้า แม้จะมีการลงทุนภาครัฐเป็นพระเอก แต่จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และไทยเผชิญปัญหาการบริโภคและหนี้ครัวเรือน จึงเป็นเหตุผลที่สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ได้ปรับประมาณการจีดีพีปี 2558 มาอยู่ที่ 3.3% จากเดิมที่มองไว้ที่ 4.5% 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 ธ.ค. 2557 เวลา : 14:41:56
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 12:51 pm