ตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค.58 เป็นต้นไป สหภาพยุโรป(อียู) จะตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ที่ให้กับสินค้าไทยกว่า 6,200 รายการ ซึ่งแนวทางในการรับมือ นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ ศึกษาระเบียบภายในของอียู เพื่อหาแนวทางบรรเทาผลกระทบให้กับผู้ส่งออกของไทย ซึ่งเบื้องต้นมี 3 แนวทางที่ไทยจะใช้ประโยชน์เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการถูกตัดจีเอสพี
โดยแนวทางแรก คือ การขอให้ผู้นำเข้าในประเทศสมาชิกอียู ยื่นเรื่องขอให้อียูลดหรือยกเลิกภาษีฝ่ายเดียวเป็นการชั่วคราว สำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม และกำหนดโควตาภาษี โดยมีเงื่อนไขการให้สิทธิที่สำคัญ เช่น ต้องเป็นวัตถุดิบ เป็นสินค้าขั้นกลางเน้นสินค้าที่ขาดแคลน และเป็นส่วนประกอบที่นำไปใช้ในกระบวนการผลิตต่อเนื่อง
แต่ต้องไม่ใช่สินค้าขั้นสุดท้ายที่ขายตรงให้กับผู้บริโภคหรือเพื่อนำไปขายต่อ ทั้งนี้ สินค้าดังกล่าวต้องไม่ใช่สินค้าที่ถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (เอดีและซีวีดี) และไม่เป็นสินค้าตามข้อตกลงไซเตส
ส่วนประการที่สอง คือ การนำสินค้าที่ได้ถิ่นกำเนิดในประเทศที่ได้รับสิทธิจีเอสพีมาเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บน หรือเขตปลอดภาษี (ฟรีโซน) ก่อนส่งไปอียู แต่ต้องสำแดงได้ว่ามีถิ่นกำเนิดจากประเทศผู้ได้รับสิทธิ และต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือทำการอื่นใดนอกเหนือจากการรักษาสินค้าให้อยู่ในสภาพดี ซึ่งสินค้าเหล่านั้นสามารถนำไปเก็บหรือขนผ่านประเทศที่สามและแบ่งหีบห่อแล้วส่งไปยังอียูได้
ขณะที่แนวทางสุดท้าย คือ การขอให้อียูยกเว้นภาษีเป็นการชั่วคราวสำหรับสินค้าที่นำเข้าไปใช้เป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบในอุตสาหกรรมอากาศยานพลเรือนซึ่งเป็นไปตามระเบียบของอียู
ด้านสมาคมกุ้งไทย นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมฯ เปิดเผยว่า ปี 2557 ไทยสามารถผลิตกุ้งได้ 2.3 แสนตัน ต่ำกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากโรคตายด่วน หรืออีเอ็มเอส โดย 10 เดือนแรกของปีนี้ สามารถส่งออกกุ้งได้ 1.3 แสนตัน ลดล 26% เมื่อเทียบกับปี 2556 คิดเป็นมูลค่า 5.1 หมื่นล้านบาท ลดลง 8% เนื่องจากราคากุ้งปรับตัวดีขึ้น ส่วนปี 2558 คาดว่า จะมีผลผลิต 2.5-3 แสนตัน ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะอยู่ที่ปริมาณ 1.8-2 แสนตัน เนื่องจากตลาดยังมีความต้องการสูง
ขณะเดียวกันต้องติดตามกรณีที่อียูจะตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรกับไทยในปี 2558 ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการเสียภาษีเพิ่มขึ้นจาก 4% เป็น 12 % ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง จึงอยากให้รัฐบาลเร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-อียู เพื่อให้ภาษีเป็นศูนย์ และให้เร่งแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ที่ไทยถูกจัดอยู่ในบัญชี Tier 3 (เทียร์ 3)
ซึ่งทางอียูจะส่งการแจ้งเตือนและหลังจากนั้น 6 เดือน จะสั่งห้ามการนำเข้าสินค้าประมงทุกชนิดจากไทย
ข่าวเด่น