ปี 2557 ยังถือว่าเป็นวัฎจักรขาลงของราคาทองคำอีก 1 ปี ซึ่งต่อเนื่องมาจากปี 2556 ที่ราคาทองคำทำสถิติสูงสุดบาทละประมาณ 27,000 บาทต่อบาททองคำ ส่วนทิศทางในปี 2558 ก็ยังคงอยู่ในช่วงทิศทางราคาทองคำขาลง
โดยนายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ ประเมินว่า ในปี 2558 กรอบการเคลื่อนไหวของราคาทองคำยังมีโอกาสปรับตัวลดลง และอาจสร้างฐานต่ำกว่าปีนี้ โดยมองกรอบการเคลื่อนไหวไว้ที่ 1100-1300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งปัจจัยกดดันมาจากความต้องการทองคำชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังอ่อนแอ นอกจากนี้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าเป็นปัจจัยกดดันอีกทาง
ทั้งนี้ เมื่อดูความต้องการทองคำในประเทศปีนี้ พบว่ามีความต้องการกว่า 150 ตัน ซึ่งลดลง 50% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีความต้องการกว่า 300 ตัน โดยภายใต้ค่าเงินบาทประมาณ 33 บาทต่อดอลลาร์ คาดว่ากรอบการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในประเทศปีหน้าจะอยู่ที่ระดับ 16,000-20,000 บาท
สอดคล้องกับ นายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ที่ประเมินเช่นกันว่า การลงทุนทองคำในปี 58 จะลดลงเมื่อเทียบจากปี 57 เพราะทองคำมีผลตอบแทนจากการลงทุนลดลงเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ประกอบกับราคาน้ำมันที่ลดลงมาก ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลกทั้งสหรัฐ จีน และประเทศในแถบยูโรโซนที่อยู่ในระดับต่ำ จึงทำให้ทองคำซึ่งเป็นสินค้าป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อมีความน่าสนใจลดลง
ทั้งนี้ แนวโน้มการซื้อทองคำในปี 2558 การซื้อเพื่อสวมใส่จะเพิ่มมากขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อินเดียที่ประมาณ 6.4% เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศนำเข้าทองคำสำหรับเป็นเครื่องประดับมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ใกล้เคียงกับประเทศจีน ขณะเดียวกันต้องจับตาดูเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะขยายตัว 7.2% ซึ่งชะลอลงจาก 7.4% ในปี 57 จะกดดดันให้ความต้องการทองคำของจีนทรงตัว แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาความต้องการทองคำรวมทั้งตลาดจีนและอินเดียแล้ว ความต้องการรวมอยู่ระดับ 1,500 ตันต่อปี ซึ่งถือเป็น 68% ของความต้องการเครื่องประดับของโลก
สำหรับการเคลื่อนไหวของราคาทองคำปี 58 ประเมินว่าอยู่ในกรอบ 1,050-1,300 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อทรอยออนซ์ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากความกังวลธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาส 3-4 ปี 58 ซึ่งจะส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น กดดันต่อราคาทองคำ
ข่าวเด่น