ภายหลังจากประเทศไทยเกิดรัฐประหารในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ประกอบกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศอยู่บริหารประเทศเพียง 1 ปี ขณะเดียวกันประเทศไทยก็มีปัจจัยลบเกิดขึ้นหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นภาษีมรดก หรือกฎหมายคนค้ำประกัน ส่งผลให้การออกมาทำกิจกรรมส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการสินค้าและห้างร้านต่างๆ ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากผู้บริโภคยังไม่มั่นใจกับปัจจัยลบที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้
จากปัจจัยที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องออกมาปรับแผนการทำตลาด ด้วยการสร้างกลุ่มเป้าหมายใหม่ขึ้นมา เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด เห็นได้จากการที่ผู้ประกอบการห้างค้าปลีกพยายามอัพเกรดศูนย์การค้า เพื่อขยายฐานลูกค้าระดับบนมากขึ้น เช่นเดียวกับ บริษัท อีซี่ส์ อินเตอร์เนชั่นแนล แฟรนไชส์ ที่ออกมาปรับภาพลักษณ์ของร้านอาหาร ภายใต้แบรนด์ "มอร์เก้น" ให้มีความชัดเจนและทันสมัยมากขึ้น
นายสุภัค หมื่นนิกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีซี่ส์ อินเตอร์เนชั่นแนล แฟรนไชส์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารภายใต้แบรนด์ "มอเก้น เรสเทอรองส์ แอนด์ คาเฟ่" ธุรกิจร้านอาหารอีซีส์ คิทเช่น และอีซีส์ฟู้ดเซอร์วิส กล่าวว่า บริษัทก็ได้มีการปรับรูปแบบร้านมอร์เก้น บาย อีซีส์ ให้มีภาพลักษณ์ที่ชัดเจนเช่นกัน ด้วยการเปลี่ยนโลโก้ใหม่ และเปลี่ยนแบรนด์เป็น มอร์เก้น เรสเทอรองส์ แอนด์ คาเฟ่ เพื่อให้มีความทันสมัยและสื่อถึงการทำธุรกิจที่มีทั้งอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ จำหน่ายภายในร้าน
หลังจากที่ทดลองปรับคอนเซ็ปต์ใหม่ได้ 1 ปี พบว่าได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก ทำให้บริษัทมีแผนจะรีโนเวตร้านสาขาเดิมให้มาอยู่ในรูปแบบของร้านมอร์เก้น เรสเทอรองส์ แอนด์ คาเฟ่ ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันร้านมอร์เก้น เรสเทอรองส์ แอนด์ คาเฟ่ มีสาขารวมทั้งสิ้น 11 แห่ง เป็นร้านสาขาในรูปแบบเดิม 7 แห่ง และรูปแบบใหม่ 4 แห่ง
อย่างไรก็ดี เพื่อรองรับการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นบริษัทปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญในแวดวงร้านอาหารเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการบริษัท พร้อมดึงนักการตลาดมืออาชีพเข้ามาเสริมทีม เพื่อสร้างมาตรฐานคุณภาพอาหารและบริการให้ได้มาตรฐานระดับสากล โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาแบรนด์ให้แข็งแกร่ง พร้อมขยายการลงทุนในรูปแบบแฟรนไชส์ไปสู่ต่างประเทศ โดยตลอดปีที่ผ่านมาบริษัทศึกษาและปรับโพสิชันนิงของแบรนด์ใหม่เพื่อเตรียมพร้อมรองรับ ขณะเดียวกันก็ทดลองทำตลาดซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี
นายสุภัค กล่าวต่อว่า หัวหอกหลักที่จะใช้ในการรุกทำตลาดร้านอาหาร คือ แบรนด์มอร์แกน เนื่องจากแบรนด์ร้านอาหารดังกล่าวมีศักยภาพและคอนเซ็ปต์ของร้านถือว่ามีความแข็งแกร่ง แต่ด้วยเป้าหมายที่ต้องการปรับเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ ทำให้บริษัทต้องปรับโพสิชันนิงใหม่ ให้มีความทันสมัย และรองรับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
สำหรับคอนเซ็ปต์ใหม่ของร้านมอร์เก้น เรสเทอรองส์ แอนด์ คาเฟ่ ขณะนี้ได้เริ่มนำเข้าไปเปิดตลาดในต่างประเทศแล้วจำนวน 1 สาขา โดยประเทศแรกที่เข้าไปทดลองตลาด คือ เวียงจันทร์ ประเทศลาว ด้วยการขายแฟรนไชส์ให้กับนักธุรกิจในประเทศลาว ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการเมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ลูกค้าให้ผลการตอบรับเป็นอย่างดี
จากแนวโน้มที่ดีดังกล่าว ทำให้บริษัท อีซีส์ อินเตอร์เนชั่นแนล แฟรนไชส์ มีแผนที่จะขยายธุรกิจในตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยจะเริ่มเข้าไปทำตลาดอย่างจริงจังนับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป โดยใน 5 ปีแรกนับตั้งแต่ปี 2558-2562 จะเน้นการขยายธุรกิจเข้าไปในกลุ่มประเทส CLMV หรือกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง หลังจากนั้นนับตั้งแต่ปีที่ 6 -10 ( 2563-2567) จะเน้นการขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศทางใต้ รวมไปถึงจีน และฮ่องกง เนื่องจากเป้าหมายใน 10 ปีนับจากนี้ บริษัท อีซีส์ อินเตอร์เนชั่นแนล แฟรนไชส์ คือ การขยายสาขาร้านมอร์เก้น เรสเทอรองส์ฯ ทั้งในไทยและต่างประเทศให้มีสาขารวมกันไม่ต่ำกว่า 300 สาขา
นายสุภัค กล่าวอีกว่า ในส่วนของประเทศไทย บริษัทมีแผนที่จะทดลองเปิดให้บริการร้านมอร์เก้น เรสเทอรองส์ แอนด์ คาเฟ่ สาขาแรก ที่เดอะเวโรน่า แอท ทับลาน จ.ปราจีนบุรี ตรงข้ามอุทยานแห่งชาติทับลาน ทางขึ้นวังน้ำเขียว เน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายพรีเมี่ยมแมส โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการตกต่างร้าน คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการกลางเดือน ม.ค.2558
สำหรับแผนการดำเนินงานของปี 2558 ขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผน คาดว่าเร็วๆ นี้ น่าจะได้ข้อสรุปในการขยายธุรกิจ 3 กลุ่ม คือ ธุรกิจร้านอาหารภายใต้แบรนด์ มอเก้น เรสเทอรองส์ แอนด์ คาเฟ่ ธุรกิจร้านอาหารอีซีส์ คิทเช่น และอีซีส์ฟู้ดเซอร์วิส ซึ่งเบื้องต้นในส่วนของของธุรกิจร้านอาหารมอร์เก้น เรสเทอรอส์ แอนด์ คาเฟ่ ปีหน้ามีแผนที่จะขายแฟรนไชส์เพิ่มอีกประมาณ 6 สาขา ภายใต้งบลงทุนเฉลี่ยสาขาละประมาณ 6 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็จะดำเนินการปรับปรุงสาขาเก่าที่เหลืออีกประมาณ 7 สาขา เพื่อให้มีความทันสมัยตรงกับคอนเซ็ปต์ใหม่
ส่วนแผนการลงทุนอื่นๆ ขณะนี้ยังไม่มีแผนลงทุนเพิ่ม เนื่องจากปีนี้เพิ่งใช้งบ 20 ล้านบาท ลงทุนในส่วนของการผลิต เช่น การซื้อเครื่องจักรใหม่ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าไส้กรอกและอื่นๆ จากเดิม 15 ตันต่อวันเป็น 25 ตันต่อวัน การลงทุนด้านซอฟต์แวร์หน้าร้าน และการขยายพื้นที่การผลิตซอส ซุป เพื่อป้อนให้แก่สาขาในโรงงานเดิม เป็นต้น
หลังจากเดินหน้าขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าสิ้นปี 2558 จะมีรายได้เติบโตตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินเป็นตัวเลขได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการดำเนินธุรกิจ แต่บริษัท อีซีส์ อินเตอร์เนชั่นแนล แฟรนไชส์ มั่นใจว่าจะมีรายได้เติบโตกว่าปีนี้ ที่คาดว่าจะปิดรายได้อยู่ที่ประมาณ 125 ล้านบาทอย่างแน่นอน เนื่องจากรายได้ดังกล่าวต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่วางไว้ว่าจะมีรายได้ 135 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น ซึ่งในส่วนของรายได้ที่ได้รับดังกล่าว แบ่งเป็นร้านมอร์เก้นฯ 60% ร้านอีซี่ส์คิทเช่น 20% และอีซี่ส์ฟู้ดเซอร์วิส 20%
นายสุภัคกล่าวปิดท้ายว่า ปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารจะแข่งขันกันรุนแรง เห็นได้จากการที่มีแบรนด์ใหม่เข้ามาลงทุนในเมืองไทยมากขึ้น ทั้งในรูปแบบของแฟรนไชส์ และการเข้ามาลงทุนของเจ้าของแบรนด์เอง ส่งผลให้แบรนด์ขนาดกลางและเล็กได้รับผลกระทบ รวมทั้งเห็นการเข้าซื้อกิจการของร้านอาหารต่างๆ มากขึ้น แต่อย่างไรก็ดีท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงก็ยังมีโอกาสในการลงทุน โดยเฉพาะการสร้างจุดเด่นให้กับตัวเองในร้านคุณภาพอาหาร การเลือกทำเล และการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปีนี้จะเกิดความไม่สงบทางการเมือง แต่จากการทำสำรวจ พบว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ได้รับผลกระทบจะเป็นเฉพาะจุด หรือเฉพาะพื้นที่ และเฉพาะบางสาขาธุรกิจ แต่โดยภาพรวมแล้วธุรกิจแฟรนไชส์ยังมีทิศทางจะเติบโตได้อีก นอกจากปัจจัยเอื้อดังกล่าวข้างต้นแล้ว จากการสำรวจพบว่าคนรุ่นใหม่ นักศึกษาจบใหม่ อายุ 20-30 ปี มีความสนใจอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเองมากกว่า 50% ต่างจากอดีตที่คนจบใหม่ส่วนใหญ่มักอยากเป็นพนักงานบริษัท และคนอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจมักจะมีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ลงทุนทำธุรกิจแฟรนไชส์อยู่แล้วกว่า 80% พอใจต่อการประกอบอาชีพจากการซื้อแฟรนไชส์ และ 90% ระบุด้วยว่าถ้าจะลงทุนใหม่อยากจะซื้อแฟรนไชส์อีกมากกว่าลงทุนทำธุรกิจเอง เพราะแฟรนไชส์ถือเป็นการเริ่มต้นธุรกิจที่ง่ายและสะดวก จากปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาทำให้เชื่อว่าอัตราการเติบโตธุรกิจแฟรนไชส์ในปีนี้น่าจะมีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% ซึ่งธุรกิจที่ได้รับความสนใจมากที่สุด คือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม
จากผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมธุรกิจร้านอาหารยังมีการแข่งขันที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการแข่งขันที่รุนแรงดังกล่าวถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดีให้กับธุรกิจ เพราะนอกจากจะทำให้ธุรกิจมีความคึกคักแล้ว ผู้บริโภคยังได้ประโยชน์จากการเข้าไปใช้บริการในร้านอาหารที่ชื่นชอบ
ข่าวเด่น