ธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดยฝ่ายวิจัย เปิดเผยถึง ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2557 และแนวโน้มปี 2558 ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2557 เติบโตในอัตราต่ำและอ่อนแรงเกินคาด การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศแกนหลักยังคงเปราะบาง ขณะที่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EMs) อยู่ในช่วงชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ โดยกลุ่ม BRICS ชะลอตัวแรงเกินคาด ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญปี 2557 ที่มีนัยยะต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกปีหน้า อาทิ ความต่างของระดับการฟื้นตัวและนโยบายเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศแกนหลัก การดิ่งลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และความขัดแย้งทางสังคม-การเมืองที่รุนแรงขึ้น
ส่วนปี 2558 เศรษฐกิจโลก ยังต้องเผชิญความผันผวนในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการคลี่คลายวิกฤต และ ทิศทางการฟื้นตัวที่ต่างกันในหลายระดับนำไปสู่การดำเนินนโยบายที่อาจต่างกันมากขึ้น กลุ่มประเทศเกิดใหม่มีแนวโน้มเติบโตใกล้เคียงปีก่อนหน้า เนื่องจากยังมีช่องทางกระตุ้นเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันดิบโลก...ปัจจัยที่อาจหนุนการเติบโตและเพิ่มความคล่องตัวในการใช้นโยบายเศรษฐกิจ
ประเด็นหลักที่มีนัยยะต่อทิศทางเศรษฐกิจและการเงินโลกปี 2558 มาจากผลของระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่างกัน และการใช้นโยบายการเงินที่ไม่สอดคล้องกันของประเทศมหาอำนาจ ย่อมก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลกมากขึ้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย
ด้านเศรษฐกิจไทยปี 2557 ที่มีความหวังในการฟื้นตัว หลังเผชิญภาวะโกลาหลทางการเมือง ซึ่งช่วงครึ่งปีแรก ภาวะตีบตันทางการเมือง ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่ไร้พลังขับเคลื่อน การผ่อนคลายนโยบายการเงิน และความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ช่วยพยุงการเติบโตในยามที่ปัจจัยลบรุมเร้า ขณะที่ช่วงครึ่งปีหลัง เริ่มเข้าสู่เส้นทางการฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ผิดคาดช่วงท้ายปี 2557 ทั้งการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทรุด และการใช้จ่ายภาครัฐต่ำกว่าเป้า อาจส่งผลต่อเนื่องสู่ปีถัดไป
ทั้งนี้ ปี 2558 เศรษฐกิจไทยยังอยู่บนเส้นทางการฟื้นตัวที่ไม่ราบเรียบ ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2558 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน โดยคาดว่าจะเติบโตในอัตรา 4.3% ผลจากการใช้จ่ายในประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนที่กลับสู่สภาวะปกติมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งผลเชิงบวกจากการร่วงลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่ทั้งนี้ ยังต้องระวังความผันผวนความไม่แน่นอนและความเสี่ยงในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการคลี่คลายวิกฤตเศรษฐกิจโลกและวิกฤตการเมืองไทย
พลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเริ่มกระเตื้อง การลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโต แรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากทั้งภายในและภายนอกประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่อ่อนแรงลงทุกด้านในปี 2557
สาระสำคัญของแรงขับเคลื่อนในแต่ละด้านสำหรับปี 2558
1,ภาครัฐเร่งเครื่องใช้จ่ายและออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะเริ่มทยอยปรากฎผลชัดขึ้นโดยเฉพาะงบลงทุนที่คาดว่าจะคับคั่งขึ้นในปี 2558 หลังจากที่เบิกจ่ายล่าช้าในปีก่อน ประกอบกับการเดินหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐอาจต่ำกว่าเป้าได้ เนื่องจากยังมีการตรวจสอบที่เข้มงวด เพื่อป้องกันปัญหาทุจริตในบางโครงการ
2.การลงทุนของภาคธุรกิจจะมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะเติบโตโดดเด่นราว 6-8% หลังซบเซามานาน แรงหนุนจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยเหนี่ยวนำการลงทุนภาคเอกชนและอาจช่วยหนุนการขยายตัวของความเป็นเมือง (urbanization) ท่ามกลางการเคลื่อนเข้าสู่ AEC ช่วงสิ้นปี 2558 นอกจากนี้ การเร่งอนุมัติโครงการลงทุนผ่าน BOI ในช่วงที่ผ่านมา บวกกับมาตรการกระตุ้นการลงทุน เช่น การช่วยเหลือ SMEs อาจทำให้การลงทุนจริงเพิ่มขึ้นจากปีก่อนชัดเจน
3.การใช้จ่ายของครัวเรือนอาจกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้นหลังอยู่ในสภาวะผิดปกติกว่า 2 ปี โดยคาดว่าจะเติบโต 2.7-3.7% เนื่องจากการจ้างงานและรายได้นอกภาคเกษตรอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยจะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายโดยเฉพาะในชนบทจะถูกจำกัดจากราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำและหนี้ครัวเรือนที่สูง
4.การส่งออกและการท่องเที่ยวกระเตื้องขึ้น โดยด้านการส่งออกอาจฟื้นตัวช้าๆ คาดว่าจะขยายตัว 2-4% ในปี 2558 จากที่ไม่เติบโตในปี 2557 แรงหนุนจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผนวกกับพลวัตการเติบโตของประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยอาจยังอ่อนแอกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เนื่องจากปัญหาด้านความสามารถในการแข่งขัน สำหรับภาคท่องเที่ยวอาจฟื้นตัวดีขึ้นแม้จะไม่เติบโตสูงเหมือนหลายปีที่ผ่านมา
5.ความต่างของนโยบายการเงินของประเทศแกนหลัก และการร่วงลงของราคาน้ำมันโลก ส่งผลต่อตลาดการเงินและทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทย
นโยบายการเงินของไทยที่ยังผ่อนคลายน่าจะเป็นอีกทางหนึ่งที่เสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แม้ว่าในปี 2558 จะมีแรงกดดันจากแนวโน้มการปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ แต่ทางการไทยอาจไม่จำเป็นต้องรีบปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตาม เนื่องจากการร่วงลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก จะทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ แม้ไทยจะมีการปรับลดการอุดหนุนราคาพลังงาน และต้นทุนนำเข้าบางส่วนได้รับผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินบาทก็ตาม ดังนั้นคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน หรือ กนง.จึงมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำ 2.0% อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจโลกและไทยอ่อนแอกว่าคาด เงินเฟ้อที่ต่ำก็จะเปิดทางให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยปรับลดลงได้
สำหรับค่าเงินบาทในปี 2558 อาจผันผวนในทิศทางอ่อนค่า สอดคล้องกับแนวโน้มการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ฯอันเป็นผลจากเศรษฐกิจสหรัฐฯที่อาจเติบโตโดดเด่นจนสามารถใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น เช่น การปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบาย แตกต่างจากประเทศแกนหลักอื่นๆ ที่มีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในเกณฑ์ดี อาจช่วยจำกัดการอ่อนค่าของเงินบาท
ทั้งนี้ ความผันผวนของค่าเงินบาทเป็นประเด็นที่หลีกเลี่ยงมิได้ เนื่องจากความไม่แน่นอนต่างๆ โดยเฉพาะจังหวะและขนาดของการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศแกนหลัก รวมทั้งสถานการณ์การเมืองในประเทศ อาจส่งผลให้กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างฉับพลันเป็นระยะได้
ประเด็นหลักที่มีนัยยะต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2558 ที่จะมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ตลาดการเงิน รวมทั้งทิศทางนโยบายการเงินของไทย
1) ความต่างของภาวะเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายการเงินในประเทศแกนหลักของโลก (Divergence of economic conditions and monetary policy) ซึ่งไม่เพียงจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของกลุ่มตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อทิศทางนโยบายการเงินในแต่ละประเทศ ตลอดจนกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่จะมีส่วนกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนและราคาสินทรัพย์ต่างๆทั่วโลก
2) ผลจากการร่วงลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก นับเป็นปัจจัยด้านบวกที่จะช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ผ่านประเทศผู้บริโภคและนำเข้าน้ำมันเช่นไทย
3) ทิศทางการเมืองในประเทศ ซึ่งรวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปการเมือง-เศรษฐกิจ-สังคม แม้การเปลี่ยนแปลงกฎกติกา (Regulatory changes) ที่รออยู่เบื้องหน้าอาจสร้างความกังวลต่อบางภาคธุรกิจ แต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญในปี 2558 นับเป็นความหวังที่จะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เพื่อขจัดอุปสรรคและเสริมสร้างศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
ข่าวเด่น