ปัจจัยลบที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2557 ที่ผ่านมา คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์พอสมควร เพราะปัจจัยลบที่เกิดขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ต่างส่งผลกระทบต่อมู้ดการดูหนังพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ไทย หรือภาพยนตร์ต่างประเทศ
แม้ว่าจะมีปัจจัยลบเกิดขึ้น แต่หากมองไปที่ภาพรวมของมูลค่าตลาดที่ยังมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 4,200 ล้านบาท ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งในมูลค่าดังกล่าวแบ่งเป็นตลาดภาพยนตร์ฮอลลีวูดประมาณ 75% ตลาดภาพยนตร์ไทย 25% และตลาดภาพยนตร์อื่นๆ เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อีกประมาณ 1%
ทั้งนี้ตลาดที่มีความคึกคักมากที่สุด คือ ตลาดภาพยนตร์ไทย เนื่องจากปีนี้มีภาพยนตร์ไทยเข้าฉายมากถึง 69 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มีภาพยนตร์ไทยเข้าฉายกว่า 50 เรื่องเท่านั้น ซึ่งจากจำนวนภาพยนตร์ไทยที่เข้าฉายเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ปีนี้ภาพยนตร์ไทยทุบสถิติมีจำนวนภาพยนตร์เข้าฉายมากที่สุดในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา
นายวิสูตร พูลวรลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีทีเอช จำกัด กล่าวว่า แม้ว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศไทยตกไป 4-5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบภายในประเทศที่เกิดขึ้น และอีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากมีการแข่งขันฟุตบอลโลก เพราะทุกครั้งที่มีการแข่งขันกีฬารายการดังกล่าว จะส่งผลให้ภาพรวมของตลาดภาพยนตร์ชะลอตัว โดยเฉพาะตลาดภาพยนตร์ไทย
ปัจจุบันตลาดภาพยนตร์ไทยสามารถแบ่งผู้สร้างได้เป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย 1.กลุ่มผู้สร้างจากสตูดิโอ กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ใช้งบลงทุนในการสร้างภาพยนตร์ค่อนข้างสูง เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10-30 ล้านบาท จึงทำให้ภาพยนตร์แต่ละเรื่องที่นำเข้ามาฉายส่วนใหญ่จะประสบความสำเร็จ
กลุ่มที่ 2 จะเป็นกลุ่มผู้สร้างหน้าใหม่ ซึ่งปีนี้จะเห็นเป็นจำนวนมาก เช่น กลุ่มผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องศรีธนญชัย และเรื่องผู้บ่าวไท อีสานอินดี้ กลุ่มนี้จะใช้งบลงทุนสร้างภาพยนตร์ต่อเรื่องประมาณ 4-10 ล้านบาท
และกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มผู้สร้างภาพยนตร์อินดี้ เช่น ภาพยนตร์สารคดี ซึ่งปีนี้มีผู้สนใจเข้ามาสร้างภาพยนตร์แนวดังกล่าวมากถึง 10-20 ราย จากปกติจะมีเพียง 3-4 รายเท่านั้น โดยในส่วนของงบลงทุนสร้างจะอยู่ที่ประมาณ 3 แสน- 4 ล้านบาท
นายวิสูตร กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะมีภาพยนตร์ของจีทีเอช เรื่อง "แอม ฟาย แต้งกิ่ว เลิฟ ยู้" เข้าฉาย ตลาดภาพยนตร์ไทยมีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 20% เท่านั้น แต่หลังจากภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวเข้าฉาย ส่งผลให้ขณะนี้ตลาดภาพยนตร์ไทยสามารถกลับมามีส่วนแบ่งการตลาดได้ที่ 25% แล้ว
สำหรับในส่วนของบริษัท จีทีเอช ยังคงเดินหน้าสร้างภาพยนตร์ปีละ 3 เรื่อง เหมือนกับเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา ภายใต้งบลงทุนเรื่องละ 20-30 ล้านบาท จากเดิมจะผลิตภาพยนตร์เข้าฉายปีละ 7 เรื่อง เพื่อให้การบริหารงานมีความคล่องตัวและผลิตภาพยนตร์ที่มีคุณภาพเข้าฉาย เช่นเดียวกันปี 2558 จีทีเอช มีแผนที่สร้างภาพยนตร์เข้าฉายจำนวน 3 เรื่อง
นอกจากนี้ จีทีเอช ยังมีแผนที่จะใช้กลยุทธ์สร้างความแตกต่างสู้กับคู่แข่ง เช่น ถ้าภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เป็นแนวแอคชั่น ก็จะนำภาพยนตร์ตลก หรือภาพยนตร์แนวผีเข้าฉาย ซึ่งที่ผ่านมาได้ทดลองแล้วกับเรื่องพี่มากพระโขนงที่ฉายชนกับจีไอโจ พบว่าได้ผลการตอบรับที่ดีจากผู้ชม
นายวิสูตร กล่าวอีกว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในปี 2558 คาดว่าจะมีการแข่งขันที่รุนแรงมากกว่าปีนี้ เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันในส่วนของผู้สร้างภาพยนตร์จากต่างประเทศ ก็มีแผนที่จะนำภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เข้าฉายเป็นจำนวนมาก เช่น เจมส์ บอนด์ ,สตาร์ วอลล์ ภาค 7 , ฟาสต์ แอนด์ ฟิวเรียส 7,เทอร์มิเนเตอร์ และดิ อเวนเจอร์ส
ขณะที่ฝั่งภาพยนตร์ไทย คาดว่าจะมีเข้าฉายไม่ต่ำกว่า 50 เรื่อง ซึ่งปีหน้าถือเป็นปีที่ภาพยนตร์ไทยทำการตลาดลำบาก เนื่องจากมีภาพยนตร์ฮอลลีวูดฟอร์มยักษ์เข้าฉายเป็นจำนวนมาก ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรมีการวางแผนการตลาดที่ดี เพราะปี 2558 จะเป็นปีที่ภาพยนตร์ไทยวางโปรแกรมฉายภาพยนตร์ลำบากอีกปีหนึ่ง
ขณะที่ฝั่งไทยมีภาพยนตร์เรื่อง แอม ฟาย แต้งกิ่ว เลิฟ ยู้ สร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทย ในฝั่งของภาพยนตร์ฮอลลีวูดเองก็มีภาพยนตร์เรื่อง "ทรานส์ฟอร์เมอร์ส 4" สร้างรายได้ทุบสถิติภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้าฉายในประเทศไทย
นายปณณทัต พรหมสุภา ผู้จัดการทั่วไป ประจำประเทศไทย บริษัท ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล พิคเจอร์ส (ฟาร์อีสต์) จำกัด หรือ ยูไอพี ประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 2557 ที่ผ่านมา บริษัทได้นำภาพยนตร์ต่างประเทศมาฉายในประเทศไทย รวมทั้งหมด 18 เรื่อง สร้างรายได้รวมให้กับบริษัทอยู่ที่ 770 ล้านบาท
ทั้งนี้ เรื่องที่สร้างสถิติใหม่ในวงการภาพยนตร์ คือ "ทรานส์ฟอร์เมอร์ส 4 : มหาวิบัติยุคสูญพันธุ์" คว้าแชมป์ภาพยนตร์ต่างประเทศที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลในประเทศไทย ด้วยรายได้รวมมากกว่า 320 ล้านบาท และสร้างปรากฏการณ์ใหม่เปิดตัว 3 วันแรก ทำรายได้ถึง 100 ล้านบาท, 4 วันแรก 150 ล้านบาท และ สามารถทำรายได้ 7 วันแรก 200 ล้านบาท และคว้าแชมป์ภาพยนตร์เปิดตัวสัปดาห์แรกสูงสุดตลอดกาลในประเทศไทย
ปัจจุบันโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย มีจำนวน 800 โรง กระจายอยู่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในจำนวนดังกล่าวเป็นของ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป กว่า 500 โรง ในพื้นที่ 30 จังหวัดทั่วประเทศ ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 300 โรงเป็นโรงภาพยนตร์ในเครือเอสเอฟ และรายอื่นๆ
ด้าน นายวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แผนการดำเนินธุรกิจในอีก 5 ปีนับจากนี้ เริ่มตั้งแต่ปี 2558-2563 บริษัทมีแผนที่จะขยายสาขาโรงภาพยนตร์เพิ่มขึ้นอีก 500 โรง แบ่งเป็นสาขาในประเทศ 400 โรง ครอบคลุมพื้นที่ 50 จังหวัด โดยหลายจังหวัดลงทุนมากกว่า 1 สาขา
นอกจากนี้ เมเจอร์ ยังมีแผนที่จะขยายธุรกิจไปในกลุ่มประเทศอาเซียน เริ่มจากกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง หรือ CLMV ได้แก่ กัมพูชา, ลาว, พม่า และเวียดนาม ประมาณ 100 โรง ดังนั้นในปี 2563 เมเจอร์ จะมีโรงภาพยนตร์ครบ 1,000 โรง หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัว จากปัจจุบันเมเจอร์มีโรงภาพยนตร์ 1 สาขาในพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ซึ่งในปี 2558 มีแผนจะลงทุนเพิ่มอีก 1 สาขา ในพนมเปญ และ ลาว 1 สาขา เฉลี่ยสาขาละ 5-6 โรง ส่วนประเทศพม่า และเวียดนาม อยู่ภายใต้การลงทุนใน 5 ปี
ส่วนแผนการลงทุนในปี 2558 เมเจอร์ มีเป้าหมายจะขยายโรงภาพยนตร์ 100 โรง ใช้งบลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท ถือเป็นการลงทุนและขยายโรงภาพยนตร์มากที่สุด เนื่องจากเป็นปีที่ 21 ของการดำเนินธุรกิจ ซึ่งหลังจากเดินหน้าขยายสาขาต่อเนื่อง คาดสิ้นปี 2558 จะมีโรงภาพยนตร์กว่า 600 โรง จากปัจจุบัน เมเจอร์ มีโรงภาพยนตร์ในเครือ 77 สาขา จำนวน 520 โรง เป็นสาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 29 สาขา 281 โรง ต่างจังหวัด 45 สาขา 255 โรง และ ต่างประเทศ 1 สาขา 7 โรง
การออกมาขยายธุรกิจ ทั้งในฝั่งของผู้ผลิตภาพยนตร์ และผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ดังกล่าว เชื่อว่าจะทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศไทยในปี 2558 กลับมาคึกคักอีกครั้งได้อย่างแน่นอน เพราะจากหนังฮอลลีวูดฟอร์มยักษ์ที่เตรียมเข้าฉาย ก็ดูมีแนวโน้มที่ดีแล้ว
ข่าวเด่น