การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ครั้งแรกของปี 2558 เมื่อวันอังคารที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา ได้ให้ความเห็นชอบใช้กรอบอัตราเงินเฟ้อทั่วไป(CPI) ในปี 2558 ที่ 2.5% บวกลบไม่เกิน 1.5%
ซึ่ง นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการกำหนดกรอบเพดานเงินเฟ้อ จากเดิมใช้แบบกรอบอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาสเป็นกรอบอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ด้วยการนำราคาน้ำมัน อาหารสด มารวมในการคำนวณด้วย
โดยกำหนดกรอบเงินเฟ้ออยู่ที่ 1-4 % เฉลี่ย 2.5% บวกลบ 1.5% โดยแนวคิดเปลี่ยนมาใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีมา 3 ปีแล้ว แต่ปีนี้ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับลดลงต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสเหมาะในการใช้แนวทางดังกล่าวโดยการใช้นโยบายการเงินควบคุมดูแลเศรษฐกิจ เพราะขณะนี้ยอมรับว่านโยบายการเงินค่อนข้างผ่อนคลาย เพื่อดูแลให้เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยมองว่าราคาน้ำมันที่ปรับลดลงต่อเนื่องจากปัจจุบันประมาณ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และอาจแกว่งกลับไปที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ดังนั้นจึงต้องการใช้นโยบายการเงินสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุนและผู้บริโภคกล้าตัดสินใจซื้อสินค้า
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวช้า จึงเป็นหน้าที่สำคัญในการใช้นโยบายการคลังผ่านงบประมาณขาดดุล เพื่อนำเงินลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพราะไม่มีการลงทุนเป็นเวลานาน
ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ที่อิงกับเงินเฟ้อทั่วไป สอดคล้องกับธนาคารกลางหลายประเทศในโลก แม้ตะกร้าเงินเฟ้อของไทยจะประกอบด้วยสินค้าในหมวดอาหารและพลังงานด้วยสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงกว่าประเทศอื่น แต่การแกว่งตัวของเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมายังอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ของทางการซึ่งเป็นความเหมาะสมของกรอบเป้าหมายดังกล่าวในทางปฏิบัติ
ทั้งนี้ กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ของไทย แม้จะมีช่วงที่กว้างกว่าหลายประเทศและกว้างกว่าเดิมเล็กน้อย แต่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน และเอื้อต่อเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะกลางถึงยาว เนื่องจากกรอบเงินเฟ้อใหม่มีช่วงการเคลื่อนไหวที่กว้างขึ้นมาที่ 3% เทียบกับ 2.5% ภายใต้กรอบเงินเฟ้อพื้นฐานเดิม ที่กำหนดกรอบไว้ที่ 0.5-3%
ซึ่งสะท้อนถึงความยืดหยุ่นการดำเนินนโยบายการเงินมากขึ้น และช่วยให้ทางการไทยมีพื้นที่เชิงนโยบายเพียงพอที่จะรับมือกับความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าได้ เช่น ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อ
สำหรับปี 2558 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยรายปีที่อยู่ในกรอบเป้าหมายใหม่ จะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่มีแรงกดดันด้านราคา เนื่องจากเป็นที่คาดหมายว่า ราคาพลังงานโลกยังมีทิศทางผ่อนคลาย ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากแผนปรับโครงสร้างพลังงานในประเทศต่อระดับเงินเฟ้อ และส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2558 ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ด้วยกรอบคาดการณ์ประมาณ 1-2.2% หรือมีค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 1.5 % เทียบกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปใหม่ของ ธปท. ที่ 1 -4%
ข่าวเด่น