เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบเศรษฐกิจและการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก 2557 สำหรับบริษัท คชา บราเธอร์ส เพราะจากผลกระทบที่ได้รับส่งผลให้ผลประกอบการของธุรกิจอาหารคาว และธุรกิจขนมหวานมีรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากสาขาใหม่ที่ต้องการจะเปิดเพิ่มช่วงต้นปีและกลางปีถูกเลื่อนมาเป็นปลายปี หรือต้นปี 2558
นอกจากนี้ ในส่วนของสาขาเก่าที่มีอยู่ ลูกค้าก็เข้ามาใช้บริการไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น ซึ่งแบรนด์ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ "สฟี" จากผลกระทบที่รับดังกล่าว ส่งผลให้แผนการดำเนินงานปี 2558 นี้ บริษัท คชา บราเธอร์ส ขอชะลอแผนการเปิดสาขาใหม่ไว้ชั่วคราว เหลือเพียงการเปิดสาขาต้นแบบที่ศูนย์การค้าดิ เอ็มควอเทียร์ ที่ถูกเลื่อนมาจากปลายปีเพียงสาขาเดียว
นายฤทธิ์ คิ้วคชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท คชา บราเธอร์ส กล่าวว่า ร้านสฟี ในรูปแบบแฟล็กชิปสโตร์ ที่ศูนย์การค้าดิ เอ็มควอเทียร์ ถือเป็นสาขาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเปิดร้านสฟีมา เนื่องจากสาขาดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นที่ 100 ตร.ม. ส่งผลให้ต้องใช้งบลงทุนสูงถึง 15 ล้านบาท ซึ่งจากขนาดของพื้นที่ที่ใหญ่กว่าสาขาทั่วไป บริษัทยังมีแผนที่จะตกแต่งร้านสฟี สาขาศูนย์การค้าดิ เอ็มควอเทียร์ ให้มีความสวยงามมากกว่าทุกสาขาอีกด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับตัวศูนย์การค้าที่จะเน้นไปที่ความสวยงามและความเป็นธรรมชาติ
นอกจากนี้ บริษัท คชา บราเธอร์ส ยังมีแผนที่จะรีแบรนด์ร้านสฟี ให้มีความสวยงามและทันสมัยมากขึ้น ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนโลโก้ร้าน และเปลี่ยนเมนูใหม่ ภายหลังจากเปิดให้บริการมาได้ 7 ปี ซึ่งถือเป็นการปรับปรุงที่เร็วกว่าปกติที่จะปรับปรุงแบรนด์เมื่อเปิดให้บริการมาได้ 10 ปี เนื่องจากปัจจุบันการแข่งขันของธุรกิจร้านขนมหวานมีความรุนแรงมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อม คาดว่าจะพร้อมดำเนินการปรับปรุงได้ประมาณเดือน เม.ย. 2558 - เม.ย.2559 จากเดิมบริษัท คชา บราเธอร์ส จะทำการรีแบรนด์ร้านสฟีในช่วงต้นปี 2558 แต่เนื่องจากมีปัจจัยลบเกิดขึ้นในปี 2557 จึงทำให้เตรียมแผนการดำเนินล่าช้า แต่อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบปรับปรุงร้านอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านบาท โดยปัจจุบันร้านสฟีมีจำนวนสาขาเปิดให้บริการอยู่ประมาณ 22 สาขา
แม้ว่าปี 2558 บริษัท คชา บราเธอร์ส จะไม่มีแผนขยายร้านสฟี แต่ในส่วนของแบรนด์ร้านอาหารและร้านขนมอื่นๆ ยังคงเดินหน้าขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของแบรนด์เกียวโรลเอ็น มีแผนที่จะเปิดร้านใหม่ประมาณ 8-10 สาขา ภายใต้งบลงทุน 10 ล้านบาท ปัจจุบันมีจำนวนสาขาเปิดให้บริการอยู่ที่ประมาณ 7 สาขา
ขณะที่ร้านขนมแบรนด์พาสเทล มีแผนจะเปิดร้านใหม่จำนวน 3-5 สาขา ภายใต้งบลงทุนประมาณ 2 ล้านบาท ปัจจุบันมีจำนวนสาขาเปิดให้บริการอยู่ที่ประมาณ 3 สาขา และร้านอาหารเกี๊ยวซ่า มีแผนที่จะเปิดร้านใหม่จำนวน 5-8 สาขา ภายใต้งบลงทุน 12 ล้านบาท ปัจจุบันมีจำนวนร้านเปิดให้บริการอยู่ที่ 3 สาขา
นอกจากนี้ บริษัท คชา บราเธอร์ส ยังมีแผนที่จะเปิดตัวร้านอาหารคาวและร้านขนมหวานแบรนด์ใหม่เข้ามาทำตลาดเพิ่มเติมอย่างละ 1 แบรนด์ ในปี 2558 โดยในส่วนของร้านขนมหวาน บริษัท คชา บราเธอร์ส จะเป็นผู้พัฒนาแบรนด์ขึ้นมาเอง ส่วนร้านอาหารคาว จะเป็นการจับมือร่วมกับพันธมิตร เพื่อร่วมกันพัฒนาแบรนด์ขึ้นมา
นายฤทธิ์ กล่าวต่อว่า ร้านอาหารที่บริษัทจะนำเข้ามาทำตลาด จะเน้นไปที่ประเทศไทยยังไม่มี เพราะนโยบายการดำเนินธุรกิจของบริษัท คือ การเป็นเบสท์ หรือ เฟิร์ส ขณะเดียวกันเราก็จะเลือกสินค้าที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า เพราะตลาดเมืองไทยเป็นตลาดปราบเซียน การจะทำให้ร้านอาหารแบรนด์ใหม่ประสบความสำเร็จต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ
นอกจากจะเดินหน้าขยายธุรกิจในเครืออย่างต่อเนื่อง บริษัท คชา บราเธอร์ส ยังมีแผนที่จะพัฒนาบุคลากรใหม่มีศักยภาพมากขึ้น ด้วยการเปิดศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรคชาบราเธอร์ส เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น เพราะบุคลากรที่มีคุณภาพถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาธุรกิจ
หลังจากลุยขยายธุรกิจในประเทศจนมีความแข็งแกร่งพอตัวแล้ว บริษัท คชา บราเธอร์ ก็มีแผนที่จะนำธุรกิจในเครือเข้าไปสยายปีกในภูมิภาคอาเซียน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคในหลายประเทศ แต่ประเทศที่มีความเป็นไปได้และน่าจะได้ข้อสรุปในไตรมาสแรกของปีนี้ คือ มาเลเซีย
นายฤทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจในประเทศมาเลเซีย เพื่อนำร้านเกียวโรลเอ็น เข้าไปเปิดให้บริการในประเทศมาเลเซีย เบื้องต้นคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาสแรกของปี 2558 ซึ่งปัจจัยที่เลือกมาเลเซียเป็นประเทศแรกในการขยายธุรกิจ คือ มาเลเซียถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพมากที่สุดในตอนนี้ และการที่บริษัทเลือกแบรนด์เกียวโรลเอ็นไปเปิดตลาด เพราะเป็นสินค้าที่เป็นสินค้าฮาลาลได้ ประกอบกับตลาดร้านขนมในมาเลเซียยังตามหลังไทย จึงทำให้ยังมีโอกาสในการเข้าไปขยายธุรกิจ
ส่วนประเทศอื่นๆ บริษัท คชา บราเธอร์ส ขอทำการศึกษาไปอีกระยะหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นประเทศสิงคโปร์ หรือกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง โดยในส่วนของประเทศสิงคโปร์ ยอมรับว่ามีผู้สนใจเข้ามาติดต่อ แต่ด้วยค่าเช่าสถานที่แพง อีกทั้งรูปแบบร้านขนมหวานสไตล์คาเฟ่ไม่เหมาะสมกับประเทศดังกล่าว อีกทั้งแรงงานยังหายาก จึงยังไม่เหมาะที่จะเข้าไปทำตลาดในประเทศดังกล่าวช่วงนี้ เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งบริษัท คชา บราเธอร์ส มีความสนใจแต่ด้วยสถานที่ไกล จึงทำให้ต้องชะลอแผนออกไปก่อน
นายฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ในปี 2557 ที่ผ่านมา ธุรกิจร้านขนมหวานมีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากมีแบรนด์ใหม่เข้ามาทำธุรกิจจำนวนมาก ขณะเดียวกันในส่วนของแบรนด์เก่าเองก็มีการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันแต่ละศูนย์การค้าจะมีร้านขนมหวานเปิดให้บริการรวมกันไม่ต่ำกว่า 20 แบรนด์
ปัจจุบัน บริษัท คชา บราเธอร์ส ประกอบธุรกิจด้านอาหาร ไอศกรีม ขนมหวาน และร้านอาหารคาวสไตล์ญี่ปุ่นจำนวน 7 แบรนด์ รวม 37 สาขา ประกอบด้วย ร้านเทราโอกะ เกี๊ยวซ่า , ร้านเกียว โรล เอ็น , ร้านสฟรี , ร้านพาร์เฟริโอ ,ร้านกาแฟออลดีส์ คอฟฟี่ไลท์ และร้านแพสเทล หรือร้านขายเอแคลร์สไตล์ฝรั่งเศสมีสินค้าให้เลือกกว่า 30 รสชาติ
อย่างไรก็ดี หลังจากบริษัท คชา บราเธอร์ส ออกมาเดินหน้าขยายธุรกิจในเครืออย่างต่อเนื่อง มั่นใจว่าสิ้นปี 2558 จะมีรายได้กลับมาเติบโตได้ที่ 50% เหมือนที่ผ่านมาอย่างแน่นอน แม้ว่าปีนี้จะยังคงมีปัจจัยลบหลายด้านให้ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกำลังซื้อของผู้บริโภคในระดับกลางและล่างที่ยังไม่ฟื้นตัว
ขณะเดียวกัน ในด้านของปัจจัยทางการเมืองก็ยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศจะอยู่บริหารประเทศเพียง 1 ปี หรืออยู่แค่สิ้นปีนี้เท่านั้น จึงทำให้ภาคเอกชนเริ่มหวาดหวั่นว่า ปลายปีนี้จะมีปัจจัยลบทางการเมืองเกิดขึ้นอีกหรือไม่ เพราะจากผลกระทบที่ได้รับในปีที่ผ่านมาหลายรายยังบอบช้ำพอสมควร.
ข่าวเด่น