ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษาร่วมแถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของเด็กไทยต่อการเป็นส่วนหนึ่งของ “ประชาคมอาเซียน” และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3 ถึง 8 มกราคม พ.ศ. 2558
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,127 คนสามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านข้อมูลทางประชากรศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 50.67 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 49.33 เป็นเพศชาย กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 29.04 มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 15 ถึง 17 ปี ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 37.53 และร้อยละ 34.16 จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพและระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือต่ำกว่าตามลำดับ
ในด้านความรับรู้เกี่ยวกับ AEC มีกลุ่มตัวอย่างไม่ถึงครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 47.74 ที่ทราบว่า “AEC” ย่อมาจาก “Asean Economic Community” ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 52.26 ไม่ทราบ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 58.47 ทราบว่าตนเองจะได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม AEC ในสิ้นปี พ.ศ. 2558 นี้แล้ว ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 41.53 ที่ยังไม่ทราบ
สำหรับช่องทางที่กลุ่มตัวอย่างได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ AEC สูงสุด 3 ช่องทางได้แก่ สื่ออินเทอร์เน็ต คิดเป็นร้อยละ 79.06 ครูอาจารย์ คิดเป็นร้อยละ 76.57 และสื่อโทรทัศน์ คิดเป็นร้อยละ 74.09 ส่วนประโยชน์สูงสุด 5 อับดับที่กลุ่มตัวอย่างคิดว่าเด็ก-เยาวชนไทยจะได้รับจากการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ AEC คือ ได้รับความรู้เกี่ยวกับประเทศต่างๆในกลุ่ม AEC คิดเป็นร้อยละ 81.01 มีงานให้เลือกมากขึ้นในอนาคต คิดเป็นร้อยละ 78.08 ได้เพิ่มทักษะในการใช้ภาษาต่างประเทศ คิดเป็นร้อยละ 75.07 ได้พบปะเพื่อนต่างชาติมากขึ้น คิดเป็นร้อยละ 72.49 และได้เรียนกับครูอาจารย์ที่มีคุณภาพ/ความเชี่ยวชาญมากขึ้น คิดเป็นร้อยละ 69.3
ในด้านความคิดเห็นต่อการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ AEC กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.17 มีความคิดเห็นว่าการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม AEC จะมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพ/มาตรฐานทางการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนไทยได้ แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 58.56 ระบุว่าตนเองไม่มีความสนใจที่จะเดินทางไปศึกษายังประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม AEC ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.66 ระบุว่ามีความสนใจ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.78 ระบุว่ายังไม่แน่ใจ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 57.41 มีความคิดเห็นว่าการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม AEC จะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เด็กเยาวชนไทยหันมาสนใจในการเพิ่มทักษะความรู้ภาษาต่างประเทศได้มากขึ้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 64.42 มีความคิดเห็นว่าการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ AEC จะไม่ส่งผลให้การดำเนินชีวิตประจำวันของตนเองเปลี่ยนแปลงไป ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 25.91 มีความคิดเห็นว่าส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 59.63 ระบุว่าในปัจจุบันนี้ตนเองมีความพร้อมที่จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม AEC แล้ว ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 27.24 ยอมรับว่ายังไม่มีความพร้อม ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 13.13 ไม่แน่ใจ
ข่าวเด่น