การตลาด
สกู๊ป "โออิชิ" ปลุกธุรกิจอาหาร-ชาเขียว เปิดเกมตุนยอดขาย


แม้ว่าจะผ่านปีใหม่ไปได้ไม่นาน แต่หลายธุรกิจก็เริ่มออกมาอัดกิจกรรมส่งเสริมการขายกันอย่างคึกคัก เนื่องจากไม่มั่นใจว่าในอนาคตภาพรวมเศรษฐกิจและการเมืองของไทยจะเป็นอย่างไร ซึ่งการออกมาทำกิจกรรมการตลาด เพื่อตุนยอดขายไว้แต่เนินๆ จึงถือเป็นวีธีที่ดีที่สุด 


บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ออกมาเปิดเกมรุกตั้งแต่ต้นปี ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอาหาร หรือชาเขียว ภายหลังจากประสบปัญหาด้านยอดขายไปพอสมควรในช่วงปี 2557 ที่ผ่านมา
 
เริ่มต้นกันด้วยธุรกิจอาหาร ที่ปีนี้มีแผนที่จะรุขยายธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของตัวร้านอาหาร ธุรกิจอาหารแช่เย็น หรือธุรกิจอาหารแช่แข็ง โดยเฉพาะ 2 ธุรกิจหลังปีนี้ โออิชิจะให้ความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากมีแนวโน้มที่ดี เห็นได้จากอัตราการเติบโตของภาพรวมตลาดที่โตปีละไม่ต่ำกว่า 15-20% ส่งผลให้ปัจจุบันตลาดรวมอาหารแช่เย็นและแช่แข็งมีมูลค่าอยู่ที่กว่า 10,000 ล้านบาทแล้ว    

 
 
 
นายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจนับจากนี้ บริษัทจะหันมาทำตลาดอาหารแช่เย็นและแช่แข็งมากขึ้น เพื่อผลักดันรายได้ธุรกิจดังกล่าวให้มีอัตราการติบโต 5 เท่า จากปัจจุบันที่มียอดขายอยู่ที่ประมาณ 400 ล้านบาท หรือเพิ่มเป็น 2,000 ล้านบาท ในปี 2563 เนื่องจากผู้บริโภคนิยมความสะดวกสบาย

แนวทางการดำเนินธุรกิจดังกล่าว ถือเป็นการเดินตามวิสัยทัศน์บริษัทเคยได้ประกาศไว้ว่าจะต้องมีรายได้ในกลุ่มธุรกิจอาหารไม่ต่ำกว่า 13,000 ล้านบาทในปี 2563  แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจร้านอาหาร 8,000 ล้านบาท อาหารแช่แย็นและแช่แข็ง 2,000 ล้านบาท และส่งออก 2,000 ล้านบาท 

กลุ่มสินค้าอาหารแช่แข็งและแช่เย็นที่ได้เปิดตัวเข้าไปตลาดไปบ้างแล้ว ประกอบด้วย กล่องแช่เย็นพร้อมรับประทานภายใต้แบรนด์โออิชิเทรนดี้  เน้นทำตลาดผ่านช่องทางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต นอกจากนี้ ยังมีแซนวิส  และเกี๊ยวซ่า จำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ

ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มสินค้าดังกล่าวเป็นที่รู้จักเร็วขึ้น โออิชิจึงได้ปรับแผนการตลาด ด้วยการหันมาใช้โปรโมชั่นชิงรางวัลท่องเที่ยวเป็นครั้งแรก จากปกติที่จะมีแต่โปรโมชั่นลดราคา เพื่อกระตุ้นการบริโภคและสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งจากแผนการดำเนินงานดังกล่าว โออิชิได้เตรียมงบประมาณ 400 -500 ล้านบาท เพื่อทำกิจกรรมการตลาดและโฆษณาประชาสัมพันธ์แบรนด์ผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ

นอกจากนี้ ยังได้ใช้งบกว่า 1,000 ล้านบาท สร้างครัวกลางขยายกำลังการผลิตอาหารทุกกลุ่มขึ้นในจ.ชลบุรี บนพื้นที่ 195 ไร่  ถือเป็นครัวกลางที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากสามารถรองรับกำลังการผลิตทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศนาน 10 ปี

หลังจากออกมาทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย และเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โออิชิคาดว่าสิ้นปีนี้น่าจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 8,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจร้านอาหาร 7,500 ล้านบาท และอาหารแช่เย็นและแช่แข็ง 500 ล้านบาท

 
 
 
ขณะที่ธุรกิจอาหารออกมาประกาศกาศแผนรุกหนัก เพื่อผลักดันรายได้ให้ทะลุ 13,000 ล้านบาท ภายในปี 2563 ในส่วนของธุรกิจชาเขียวก็ออกมาเปิดเกมรุกเช่นกัน เพื่อย้ำผู้นำตลาดชาเขียวพร้อมดื่มแบบไม่มีส่วนผสมหรือกรีนเพียว ด้วยการครองส่วนแบ่งการตลาดที่ประมาณ  44%

 
 
 
นางเจษฎากร  โคชส์  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่าแนวทางการดำเนินธุรกิจชาเขียวพร้อมดื่มในปีนี้  บริษัทยังคงเดินหน้าทำกิจกรรมการตลาดและทำโปรโมชั่น รวมไปถึงการเปิดตัวสินค้าใหม่เข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง ภายใต้งบการตลาดที่เตรียมไว้ประมาณ 12% ของรายได้หรือกว่า  500 ล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มการแข่งขันของตลาดชาเขียวในปีนี้ เชื่อว่าจะยังมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อน

กลยุทธ์ที่โออิชิเลือกนำมาใช้สำหรับการทำตลาดในปีนี้ ยังคงให้ความสำคัญกับการทำดิจิทัลมาร์เก้ตติ้งเชิงรุกเนื่องจากกลุ่มเป้าหมายหลักของชาเขียวโออิชิเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ รูปแบบของการทำตลาดจึงต้องตรงกับความต้องการกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งหลังจากบริษัทหันมารุกทำการตลาดผ่านสื่อดิจิทัลอย่างจริงจังตั้งแต่ปีที่ผ่านมา พบว่าสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากจำนวนแฟนเพจในเฟสบุ๊คที่มีผู้ติดตามเกือบ 1.1 ล้านคนใน 1 ปี

นอกจากนี้ ยังมี Highest Engagement Rate สูงที่สุดในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ 21%  รวมทั้งสามารถคว้า 2 รางวัล จากการประกวดผลงานโฆษณาประจำปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย "Adman Awards & Symposium 2014" ที่จัดโดยสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ในหมวด Digital & Interactive Media โดยรางวัลที่ได้รับ ได้แก่ รางวัลการสร้างสรรค์แอพพลิเคชั่นบนโซเซียลมีเดีย จากแอพพลิเคชั่น Oishi Omoticon ในการสื่อสารแบรนด์คอนเซปต์ใหม่ "มีโออิชิ ชีวิตโอจัง" รวมทั้งรางวัลความสำเร็จจากการสร้างสรรค์แคมเปญโฆษณาออนไลน์แบบใช้สื่อผสมผสานในแคมเปญ Oishi Fruito Tutortainment ของผลิตภัณฑ์ฟรุตโตะ

ในส่วนของแนวทางการทำตลาดช่วงหน้าร้อนที่จะถึงนี้ โออิชิมีแผนที่จะทำการตลาดผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก คือ 1. การเดินหน้าสร้างแบรนด์ผ่านผลิตภัณฑ์ เพื่อมัดใจคนรุ่นใหม่ ผ่านการทำแบรนด์เด็ดคอนเทนต์ในรายการ โหด มัน ฮา ประเทศไทย พรีเซ็นเต็ด บาย โออิชิ กรีนที  2. กลยุทธ์ดิจิทัลเชิงรุกผ่านแอพพลิเคชั่น  และ 3. การสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้ตลาดชาเขียวพร้อมดื่ม ด้วยการเปิดตัวสินค้ารสชาติใหม่เข้ามาทำตลาด ซึ่งรสชาติที่จะวางจำหน่ายช่วงหน้าร้อนนี้ คือ โออิชิ กรีนทรี รสแตงโม

 
 
 
ทั้งนี้ นอกจากจะเน้นการขยายธุรกิจตลาดในประเทศแล้ว โออิชิยังมีแผนที่จะขยายตลาดในประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ลาว พม่า กัมพูชา มาเลเซีย และ เวียดนาม ภายหลังจากเริ่มเข้าไปทดลองทำตลาดในประเทศลาวและกัมพูชาได้ผลการตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะตลาดประเทศลาว ซึ่งปัจจุบันสามารถขึ้นเป็นผู้นำตลาดชาเขียวพร้อมดื่มในประเทศลาวได้สำเร็จ

หลังจากเดินหน้าขยายธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น โออิชิคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเห็นเป็นตัวเลขการเติบโตที่ชัดเจน เช่นเดียวกับการทำตลาดในประเทศ ซึ่งปีนี้มั่นใจว่าจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ่นได้เป็นที่น่าพอใจอย่างแน่นอน จากปัจจุบันโออิชิเป็นผู้นำตลาดในกลุ่มชาเขียวพร้อมดื่มไม่มีส่วนผสม(กรีนเพียว) ด้วยการมีส่วนแบ่งตลาดที่ 44%  ขณะที่อันดับ 2 มีส่วนแบ่งการตลาดที่ 32%

นางเจษฎากร กล่าวอีกว่า จากแนวโน้มของเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวในปีนี้ บริษัทเชื่อว่าภาพรวมตลาดชาเขียวพร้อมดื่มในปีนี้ จะมีอัตราการเติบโตที่ดีกว่าปี 2557 ซึ่งภาพรวมตลาดมีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัว ส่งผลให้ปีที่ผ่านมาภาพรวมตลาดชาเขียวมีมูลค่าเพียง 11,500 ล้านบาทเท่านั้น

แนวโน้มที่ดีดังกล่าว ทำให้โออิชิคาดการณ์ว่าการแข่งขันของตลาดชาเขียวในปีนี้จะมีความรุนแรงเหมือนกับปีที่ผ่านมา แม้ว่าปีนี้ภาพรวมเศรษฐกิจจะดีขึ้น เนื่องจากทุกคนไม่สามารถคาดการณ์สถานการณ์ในอนาคตได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น 

จากส่วนแบ่งการตลาดที่โออิชินำมาโชว์ หากนำไปรวมกับคู่แข่ง อัตราส่วนตลาดที่มี 100% คงเกินไปเรียบร้อยแล้ว ใครจะเป็นผู้นำที่แท้จริง นอกจากต้องดูที่ส่วนแบ่งการตลาดที่แต่ละบริษัทได้รับแล้ว คงต้องดูที่รายได้ที่แต่ละบริษัทได้รับเข้ากระเป๋าด้วย

 

บันทึกโดย : วันที่ : 19 ม.ค. 2558 เวลา : 12:24:47
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 8:31 am