เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
TMB เผยปี58 เป็นปีแห่งความท้าทายของผู้ประกอบการ SME เหตุกำลังซื้อหด-เงินสะพัดในระบบศก.มีจำกัด


TMB Analytics เผยดัชนีความเชื่อมั่น SME ในไตรมาส 4 ยังอ่อนแอต่อเนื่อง มองกำลังซื้อของประชาชนและเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจยังมีอยู่อย่างจำกัด สร้างความท้าทายให้ผู้ประกอบการ SME ปี 2558


           
 
 
นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี เปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี” (TMB-SME Sentiment Index) ไตรมาส 4/2557 จากการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SME กว่า 1,100 กิจการ ครอบคลุม 72 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการล่าสุดไตรมาส 4 อยู่ที่ 37.1 ปรับลงเล็กน้อยจากระดับ 38.0 จากไตรมาสก่อนหน้านี้ โดยผู้ประกอบการมองรายได้ของธุรกิจได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัวตัวลง สอดคล้องกับปัจจัยกังวลที่กว่าร้อยละ 55 ของผู้ประกอบการเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อในพื้นที่ชะลอตัวต่อเนื่อง

ทั้งนี้เมื่อสำรวจมุมมองของผู้ประกอบการต่อภาวะธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ 60.2 ซึ่งถือว่าทรงตัวจากระดับ 59.6 จากไตรมาส 3 ที่ผ่านมา สะท้อนว่าผู้ประกอบการยังมีความหวังในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและธุรกิจในระยะเวลา 3 เดือนข้างหน้า แม้ความเชื่อมั่นในอนาคตดังกล่าวจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากไตรมาสก่อนแต่อย่างใด แสดงถึงปัจจัยและการคาดการณ์ทางธุรกิจที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา หรือจากกันยายน 2557 ถึงมีนาคม 2558

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการ SME ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีมุมมองเชิงบวกด้านต้นทุนจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่เริ่มทยอยลดลงช่วงปลายปี เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งมีสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงสูงที่สุดของประเทศ โดยมีสัดส่วนการใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลคิดเป็นร้อยละ 40 และ 37 ของปริมาณการใช้ทั้งประเทศ แต่ผลจากการลดลงของราคาพลังงานยังไม่ได้สะท้อนออกมาเป็นมุมมองเชิงบวกในภาคอื่นๆ ในไตรมาสที่ 4 มากนัก

“เนื่องจากปัจจัยบวกส่วนใหญ่เป็นปัจจัยที่ส่งผลในระยะสั้นหรือเฉพาะพื้นที่ ในขณะที่ปัจจัยลบเป็นผลกระทบระยะยาวและกระทบในวงกว้าง จึงทำให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน ส่วนปัจจัยราคาน้ำมันเป็นปัจจัยที่เราติดตามดูผลกระทบในระยะต่อไป”นายเบญจรงค์กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเป็นรายภูมิภาค พบว่า ผู้ประกอบการในภาคใต้และภาคเหนือ ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ชะลอตัวมากที่สุด เนื่องจากราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำและมีปัญหาเฉพาะด้านการผลิตในบางอุตสาหกรรม โดยภาคใต้ยังได้รับผลกระทบจากราคายางพาราตกต่ำต่อเนื่อง และผลกระทบของโรคระบาดในอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้ง ในขณะที่ภาวะธุรกิจภาคเหนือได้รับผลกระทบเชิงลบจากราคาข้าวนาปีที่ลดลงโดยเฉลี่ยร้อยละ 19 จากปีก่อนหน้า รวมทั้งหลายพื้นที่ต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งจนไม่สามารถเพาะปลูกข้าวนาปรังได้ตามปกติ

ด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากราคาข้าวนาปีที่ลดลงเช่นเดียวกับภาคเหนือ แต่ยังได้รับแรงสนับสนุนจากการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านและการเดินทางกลับภูมิลำเนาของประชาชนในช่วงเทศกาลเป็นปัจจัยหนุนให้ผู้ประกอบการมีมุมมองใกล้เคียงกับไตรมาส 3 ที่ผ่านมา นอกจากนั้น ผู้ประกอบการในภาคตะวันออกให้น้ำหนักประเด็นการขาดแคลนแรงงานและต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นเป็นปัญหาต่อการประกอบธุรกิจ และในภาคกลาง พบว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นมากขึ้นในบางจังหวัดที่มีแรงสนับสนุนเฉพาะ เช่น จากการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล หรือการลงทุนในอุตสาหกรรม แต่ในภาพรวมแล้ว ยังเห็นความท้าทายในแนวโน้มธุรกิจ SME ต่อเนื่องในปี 2558 นี้ จากกำลังซื้อของประชาชนและเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจยังมีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งส่งผลต่อผลประกอบการ

 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 ม.ค. 2558 เวลา : 20:13:59
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 12:19 pm