เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กสทช.รณรงค์ใช้สิทธิ์แลกคูปองดิจิทัล


การแจกคูปองทีวีดิจิทัลของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 จนถึงวันที่ 28 มกราคม ที่ กสทช.จะแจกคูปองรอบ 4 ให้กับประชาชนที่มีสิทธิ์ แต่ต้องยอมรับว่า การใช้สิทธิ์แลกคูปองในช่วงที่ผ่านยังมีจำนวนน้อยมาก 

 
 
 
 
โดย นายสมบัติ ลีลาพตะ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สายงานกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เปิดเผยว่า สำนักงานฯ ได้แจกคูปองออกไปแล้ว 3 ล็อต รวมจำนวน 7 ล้านฉบับ โดยคูปองล็อตแรกที่ประชาชนได้รับจะหมดอายุการใช้งานในวันที่ 31 พ.ค. 2558 ขณะนี้มีผู้ใช้คูปองแล้วจำนวน 2.85 ล้านครัวเรือน 
 

 
 
โดยการนำคูปองมาแลกที่ยังมีสัดส่วนน้อยมาก กสทช. จึงได้วางกลยุทธ์โดยการลงพื้นที่ชุมชนต่างๆ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนที่ได้รับคูปองทีวีดิจิทัลแล้วนำคูปองมาแลกซื้ออุปกรณ์เพื่อรับชมช่องทีวีดิจิทัล

ส่วนความคืบหน้าการแจกคูปองล็อตต่อไปในวันที่ 28 ม.ค. สำนักงานฯ จะแจกคูปองรอบที่ 4 จำนวน 633,825 ฉบับ ในอำเภอที่มีสัญญาณครอบคลุมไม่น้อยกว่า 80% ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.บุรีรัมย์ จ.สุรินทร์ จ.นครศรีธรรมราช จ.ภูเก็ต รวมทั้งการแจกคูปองให้กับประชาชน ที่อาศัยในพื้นที่ที่มีการแจกคูปองไปแล้วในรอบที่ 1, 2 และ3 แต่ยังไม่ได้รับคูปอง ก็ให้ติดต่อขอรับได้ยังไปรษณีย์เขตพื้นที่ที่บ้านตั้งอยู่ โดยทางบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด แจ้งว่าได้เปิดช่องพิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนให้ติดต่อรับคูปองได้โดยเฉพาะแล้ว

 
 
ด้านมุมมองของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ดิจิตอล PPTV HD บอกว่า การแจกคูปองแลกกล่องทีวีดิจิทัลไม่ได้ช่วยส่งเสริม 24 ช่องของทีวีดิจิทัล เพราะเกิดปรากฏการณ์ประชาชนไม่สนใจแลก, รับชมทีวีดิจิตอลไม่ได้ เพราะโครงข่ายไม่ครอบคลุม ส่งผลให้เรตติ้งต่ำ เราจึงเห็นว่า กสทช.ควรแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และเป็นไปได้หรือไม่ที่กล่องทีวีดิจิทัลสามารถดูได้ทั้งระบบดาวเทียมและดิจิตอล เพราะพฤติกรรมประชาชนที่จะปรับเปลี่ยนช่องทางการรับชมทีวีต้องใช้เวลา ซึ่งปัจจุบันมากกว่าครึ่งของคนดูทีวีทั้งหมดจะดูผ่านทีวีดาวเทียม

 
 
 
ส่วนแผนการทำธุรกิจของบริษัทในปีนี้ จะมุ่งสู่อันดับ 1 ใน 5 สถานีโทรทัศน์ดิจิทัล (ไม่รวมช่องฟรีทีวีเดิม) จากปัจจุบันที่ช่องเวิร์คพอยท์ อยู่ในอันดับ 1 ตามด้วย Mono 29, ช่อง 8, ช่อง One, ไทยรัฐทีวี และ PPTV 

โดยบริษัทได้ตั้งงบประมาณลงทุนกว่า 1,650 ล้านบาท เช่น งบประมาณส่วนเนื้อหา 1,000 ล้านบาท สื่อสารการตลาดและสื่อใหม่ 300 ล้านบาท เป็นต้น ส่วนรายได้คาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 700 ล้านบาท 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 ม.ค. 2558 เวลา : 11:15:06
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 12:37 pm