การตลาด
สกู๊ป "สมาคมค้าปลีกฯ"เร่งปลุกสมาชิกฟื้นอุตสาหกรรม


หลังจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบมาตั้งแต่ต้นปี 2557 ต่อเนื่องมาจนถึงกลางปี 2557 ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกก็ต่างคาดหวังว่าช่วงครึ่งหลังปีนี้ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกต้องปรับตัวดีขึ้น และผลักดันให้มียอดขายมาชดเชยในช่วงครึ่งปีแรกได้อย่างแน่นอน เพราะมีปัจจัยบวกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มนิ่ง หรือภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว

 
 
 
 
เวลาผ่านไปเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของปี การออกมาทำกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างหนักของผู้ประกอบการค้าปลีกก็ยังไม่เป็นผล เนื่องจากเงินงบประมาณที่ภาครัฐพยายามอัดฉีดเข้าไปในระบบยังไม่เห็นผลในทันที ขณะที่กลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อก็ยังไม่ยอมควักเงินออกมาจากกระเป๋าเพื่อจับจ่ายใช้สอย จึงทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกทั้งหลายยิ้มไม่ค่อยออกมาเมื่อจบปี 2557

จากผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้ภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยในปี 2557 ที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 3.25% ถือเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดในรอบ 10 ปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบการเมือง และเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากซบเซามานานถึง 2 ปี จึงทำให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยไม่เติบโตและยังไม่กลับมาคึกคักเท่าที่ควร

ปัจจัยลบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้สินค้าหมวดคงทน เช่น วัสดุก่อสร้าง และอุปกรณ์กีฬา มีอัตราการเติบโตเพียง 2.7% ลดลงจากปี 2556 ที่เติบโต 8.5% ขณะที่สินค้ากึ่งคงทน เช่น สินค้าลักซ์ชัวรี่ และแฟชั่นเติบโต 3.5% ลดลงจากปี 2556 ที่เติบโต 5% และสินค้าไม่คงทน เช่น สินค้าที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันเติบโตเพียง 2.1%
 
กลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่มีอัตราการเติบโตน้อยที่สุดในปี 2557 ที่ผ่านมา คือ กลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ต และซูเปอร์สโตร์ เห็นได้จากอัตราการเติบโตที่อยู่ในระดับ 2.6% เท่านั้น ตามด้วยธุรกิจสเปเชียลตี้สโตร์ มีอัตราการเติบโตที่  2.7% และธุรกิจดีพาร์ตเม้นต์สโตร์ เติบโตที่ 3.4%  ส่วนธุรกิจค้าปลีกที่มีอัตราการเติบโตมากที่สุดในปีที่ผ่านมา คือ ซูเปอร์มาร์เก็ต มีอัตราการเติบโตที่ 6.5% ตามด้วยคอนวีเนียนสโตร์เติบโตที่ 4%

สำหรับกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่คาดว่าจะมีการขยายตัวในทิศทางที่ดีที่สุดในปีนี้ คือ ธุรกิจคอนวีเนียนสโตร์  และสเปเชียลตี้สโตร์ เนื่องจากปัจจุบันคนไทยให้ความสำคัญกับความสะดวกสบาย และหันมาดูแลตัวเองให้ดูดี จึงทำให้ 2 ธุรกิจดังกล่าว น่าจับตามองว่าจะมีการขยายตัวมากกว่าธุรกิจอื่นๆ

จากแนวโน้มของเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบกับมีการคาดการณ์ว่าเม็ดเงินที่อัดฉีดเข้าสู่ระบบในช่วงปลายปีที่ผ่านมาจะเริ่มไหลกลับเข้าสู่ระบบ และถึงมือผู้บริโภคในอีก 2-3 เดือนนับจากนี้ ขณะเดียวกันภาครัฐก็ออกมาประกาศจะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามแนวชายแดนอีกทาง ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกใจชื้นมากขึ้น

 
 
 
น.ส.จริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว คาดการณ์ว่าภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกในปีนี้ น่าจะกลับมามีอัตราการเติบโตได้ที่ 6.3% เท่ากับปี 2556 เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ในส่วนของภาคเอกชนยังคงขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทำเลตามแนวชายแดน เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายจะเข้าไปพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จึงทำให้เชื่อว่าภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกและการค้าชายแดนมีความคึกคักมากขึ้น เนื่องจากจะมีหน่วยงานต่างๆ เข้าไปลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว เช่นเดียวกับภาคธุรกิจค้าปลีก ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการขยายการลงทุนไปยังแนวชายแดนของประเทศไทยมากขึ้น

 
 
 
นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกในปีนี้ ยังคงเดินหน้าขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันทางสมาคมฯยังจะเป็นตัวแทนในการเสนอมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อกระตุ้นให้ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกมีอัตราการเติบโตมากขึ้น

ปัจจุบันรายได้ธุรกิจค้าปลีกในต่างจังหวัด คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 72% ของภาพรวมธุรกิจค้าปลีกไทย ที่เหลืออีกประมาณ 28% เป็นสัดส่วนของธุรกิจค้าปลีกที่อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งจากนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ เชื่อว่าจะทำให้การค้าขายมีการขยายตัวที่ดีขึ้น หากภาครัฐวางแผนธุรกิจให้มีความสมดุล

 
 
 
อย่างไรก็ดี แม้ว่าปีที่ผ่านมาภาพรวมธุรกิจค้าปลีกจะมีอัตราการเติบโตในด้านของรายได้ที่น้อย แต่ในด้านของการขยายสาขาแล้วถือว่ายังมีอัตราการเติบโตที่ดี เห็นได้จากการขยายตัวของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกในแต่ละประเภทที่ยังคงเดินหน้าขยายสาขาใหม่อย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นด้วยธุรกิจดีพาร์ตเมนต์สโตร์ ปี 2557 มีการขยายตัวอยู่ที่ 69 สาขา เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มี 61 สาขา ธุรกิจร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและของตกแต่งบ้าน มีการขยายตัว 178 สาขา เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มี 169 สาขา

ขณะที่ธุรกิจร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าเทคโนโลยีมีการขยายตัว 1,466 สาขา เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มี 1,435 สาขา ธุรกิจสุขภาพและความงาม มีการขยายตัว 1,146 สาขา เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มี 980 สาขา ธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์เซ็นเตอร์ มีการขยายตัว 341 สาขา เพิ่มจากปี 2556 ที่มี 328 สาขา ธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ต มีการขยายตัว 428 สาขา เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มี 361 สาขา  และธุรกิจคอนวีเนี่ยนสโตร์ มีการขยายตัว 12,451 สาขา เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มี 11,632 สาขา

ทั้งนี้เพื่อให้ธุรกิจค้าปลีกมีการขยายตัวและมีความแข็งแกร่ง สมาคมค้าปลีกฯยังทำหน้าที่เป็นแม่ทัพใหญ่ในการเข้าไปยื่นมาตรการต่อภาครัฐในเดือน ม.ค.นี้ จำนวน 4 มาตรการหลัก ประกอบด้วย 1.ผลักดันด้านสาธารณูปโภค เพื่อสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้า 2.หามาตรการกระตุ้นการบริโภค โดยผลักดันให้รัฐทำให้ไทยเป็นช้อปปิ้ง เดสติเนชั่น 3.จะเป็นการผลักดันให้ไทยแลนด์ แบรนด์ มีความแข็งแกร่ง เพื่อการส่งออกและสร้างเอกลักษณ์ในการแข่งขันในตลาดส่งออก 4.ร่วมมือกับค้าปลีกที่มีเครือข่ายต่างประเทศ ผลักดันสินค้าไทยให้มีจำหน่ายในต่างประเทศ

นอกจากนี้ ภาครัฐยังควรผลักดันให้ จ.ภูเก็ต เป็นเขตปลอดภาษี เพราะหากผลักดันสำเร็จ จะทำให้ภูเก็ตเป็นเมืองที่มีความคึกคักทั้งในด้านของการท่องเที่ยวและภาคการค้าปลีก ขณะเดียวกันภาครัฐควรเข้ามาให้การสนับสนุนผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยหรือเอสเอ็มอี เพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้ การสนับสนุนการขยายตัวของภาคค้าปลีกให้ชัดเจนทั้งในประเทศและต่างประเทศ การวางแผนกระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างครบวงจร ด้วยการเพิ่มหมวดการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศไทยทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมไปถึงการสร้างไทยแลนด์ แบรนด์ ให้มีความแข็งแกร่ง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวเชิงไลฟ์สไตล์

อย่างไรตาม หากภาครัฐบาลเร่งดำเนินการนโยบายต่างๆโดยเร็ว โดยเฉพาะการกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในกลุ่มคนระดับกลางถึงล่าง ซึ่งเป็นสัดส่วนถึง 60% ของประชากรทั้งหมดที่กำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัวตั้งแต่ปีก่อน ภายหลังได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ เชื่อว่าภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็วอย่างแน่นอน 

 

 
จากแนวโน้มที่ดีในหลายด้าน เชื่อว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมค้าปลีกในปีนี้ จะกลับมาเติบโตได้ที่ 6.3% เท่ากับปี 2556 และส่งผลให้อัตราการบริโภคของภาคธุรกิจค้าปลีกมีมูลค่ามากกว่า 3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มีมูลค่า 2.7 ล้านล้านบาท ซึ่งในมูลค่าดังกล่าวเป็นรายได้ที่มาจากสมาชิกของสมาคมประมาณ 900,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 30% ของมูลค่ารวมของอุตสาหกรรมค้าปลีกในประเทศไทย

ภาพรวมของอุตสาหกรรมค้าปลีกจะกลับมาฟื้นตัวและมีอัตราการเติบโตได้เท่ากับปี 2556 หรือไม่ คงต้องรอลุ้นที่กำลังซื้อของผู้บริโภคอย่างเดียวว่า ปีนี้จะมีอารมณ์ออกมาจับจ่ายใช้สอยหรือไม่ เพราะขนาดปีที่ผ่านมาคาดว่าเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายปี 2557 น่าจะมาชดเชยช่วงครึ่งแรกของปี 2557 และส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกเติบโตได้ตามเป้าที่ 4-5% ยังพลาดเป้าให้ผู้ประกอบการค้าปลีกปิดปี 2557 แบบยิ้มแหยๆ มาแล้ว

 

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 ม.ค. 2558 เวลา : 12:16:32
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 9:03 am