เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรชี้ "ภาคครัวเรือน" ยังกังวล "ค่าครองชีพสูง - รายได้ต่ำ"


ศูนย์วิจัยกสิกรฯเผย ดัชนีเศรษฐกิจครัวเรือนฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังอยู่ระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนครัวเรือนยังกังวลเรื่องค่าครองชีพ แม้ราคาน้ำมันลดลง เงินเฟ้อต่ำ


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน ในการติดตามภาวะการครองชีพของภาคครัวเรือนในปัจจุบัน และในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ว่า จากผลสำรวจในเดือนม.ค. 2558 พบว่า ความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนในปัจจุบันและดัชนีคาดการณ์ในระยะ 3 เดือนข้างหน้า ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางการคลายความกังวลบางส่วนต่อราคาสินค้า และค่าใช้จ่ายไม่รวมหนี้สิน
 
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่น่าสนใจจากผลการสำรวจในเดือนล่าสุดนี้ คือ ดัชนีองค์ประกอบด้านรายได้ที่กลับลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ทั้งในปัจจุบัน และคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งสะท้อนว่า มีครัวเรือนจำนวนมากขึ้นที่กังวลต่อสถานการณ์รายได้ และคาดหวังน้อยลงต่อการฟื้นตัวของรายได้ในระยะใกล้ๆ นี้

 
 
 
ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) อยู่ที่ระดับ 46.4 ในเดือนม.ค. 2558 ทรงตัวเมื่อเทียบกับระดับ 46.2 ในเดือนธ.ค.2557 โดยยังคงเป็นผลจากความกังวลที่ลดลงต่อภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งสะท้อนจากดัชนีองค์ประกอบด้านราคาสินค้าที่ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 42.4 จากระดับ 41.7  และดัชนีด้านค่าใช้จ่ายไม่รวมหนี้สิน ปรับเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ  36.8 จากระดับ  35.8 ในเดือนก่อน สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

“อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า ค่าดัชนี KR-ECI ในเดือนล่าสุดนี้ ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับระดับในช่วงหลายเดือนก่อน ซึ่งอาจเป็นเพราะครัวเรือนส่วนใหญ่ ยังมีมุมมองที่กังวลต่อตัวแปรสะท้อนภาวะการครองชีพในส่วนอื่นๆ อาทิ หนี้สินและรายได้ “ศูนย์วิจัยระบุและเปิดเผยอีกว่า ทั้งนี้ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวขึ้นมาที่ระดับ 47.7 จากระดับ 47.1 ในเดือนก่อน

โดยดัชนีองค์ประกอบด้านราคาสินค้า และค่าใช้จ่ายที่ไม่รวมภาระหนี้ ซึ่งขยับขึ้นมาที่ระดับ 42.1 และ 43.0 สูงสุดในรอบ 1 ปี อย่างไรก็ดี ดัชนีคาดการณ์ด้านรายได้ปรับลดลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 เป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เป็นสัญญาณที่สะท้อนว่า ภาคครัวเรือนมีมุมมองที่ระมัดระวังมากขึ้นต่อกระแสรายได้ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งในภาคการส่งออกและการใช้จ่ายภายในประเทศ ยังคงมีภาพการฟื้นตัวที่คลุมเครือในเวลานี้
 

 
 
ทั้งนี้ จากผลสำรวจภาวะการครองชีพของภาคครัวเรือนในเดือนม.ค.2558 พบว่า แม้ดัชนี KR-ECI ปัจจุบัน และดัชนี KR-ECI คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าจะขยับขึ้นจากเดือนก่อนหน้า แต่ก็ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งอาจหมายความว่า ภาคครัวเรือนยังคงไม่คลายความกังวลต่อภาวะการครองชีพลงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอลงจนมีค่าติดลบแล้วในขณะนี้  ซึ่งอาจเป็นเพราะการปรับลดลงของราคาน้ำมันยังไม่ส่งผลดีในวงกว้างต่อครัวเรือนทุกกลุ่ม เฉพาะกลุ่มผู้ใช้รถยนต์-รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลเท่านั้น ที่อาจได้รับอานิสงส์ที่ชัดเจน  และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน อาทิ ค่าโดยสาร และอาหารสำเร็จรูป ยังคงมีราคาที่ขยับสูงขึ้น เช่นเดียวกับภาระหนี้สิน ซึ่งยังเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการตัดสินใจใช้จ่ายของภาคครัวเรือน

“มองไปข้างหน้า ภาพรวมของทิศทางราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่อาจจะยังไม่ปรับเพิ่มขึ้นมากนักในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า อาจสามารถช่วยคลายความตึงตัว ระหว่างภาระหนี้สินในระดับสูง และการฟื้นตัวช้าของสถานการณ์รายได้ในภาคครัวเรือน  แต่ก็คงต้องยอมรับว่า ตราบใดที่เศรษฐกิจยังไม่กลับมามีการเติบโตที่ต่อเนื่อง ยากที่จะทำให้ภาคครัวเรือน ปรับเปลี่ยนมุมมองกลับมามีความเชื่อมั่นต่อภาวะการครองชีพ”ศูนย์วิจัยระบุ
 

LastUpdate 06/02/2558 12:27:59 โดย : Admin
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 2:30 pm