บลจ.วรรณ มองทางการจีนผ่อนคลายนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ส่งกองทุนเปิด ONE-CHINA 5/2สร้างเป้าหมายผลตอบแทน 5% ใน 5 เดือน IPO 2-10 ก.พ. 58
ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ จำกัด (บลจ.วรรณ) กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนของจีนในปีนี้ว่า เศรษฐกิจจีนน่าจะมีโอกาสรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ใกล้เคียงกับปีก่อนจากการสานต่อนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การลงทุนในหุ้นจีนยังคงมีความน่าสนใจ ประกอบกับมูลค่าหุ้นที่ยังต่ำเมื่อเทียบกับที่ผ่านมาและภูมิภาค รวมทั้งการเชื่อมต่อตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงระหว่างกันจะยิ่งผลักดันให้การลงทุนในตลาดหุ้นจีนดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนจากนักลงทุนได้มากขึ้นในระยะถัดไป
“ภาพรวมเศรษฐกิจจีนปีนี้ น่าจะมีโอกาสเติบโตได้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา คือ ประมาณ 7.3-7.4% โดยหลักๆ มาจากแรงผลักดันของมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนทั้งนโยบายการเงิน การคลังและการปฏิรูป ซึ่งที่ผ่านมาทางการจีนได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา ทางการจีนได้เพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจผ่านธนาคารกลางจีน (PBOC) เช่น การปรับลดอัตรากันสำรองของธนาคารพาณิชย์จีนหรือ RRR ลง เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถนำเงินไปปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น ซึ่งล่าสุดเมื่อวานนี้ (3 ก.พ. 58) ธนาคารกลางจีนก็ได้มีการประกาศลดอัตรา RRR ลงอีก 0.5% มาอยู่ที่ 19.5% และเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อ Sentiment การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก โดยเฉพาะจีนได้ นอกจากนี้ธนาคารกลางจีนเองยังคงมีการสนับสนุนการบริโภคและการลงทุนให้มากขึ้นผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 14 วัน การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นต้น”
“ในด้านนโยบายการคลัง ซึ่งเป็นแผนระยะยาวของจีนที่มุ่งเน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านคมนาคมทั้งในประเทศผ่านโครงการ One Belt One Road และระหว่างประเทศผ่านโครงการ Silk Road โดยเม็ดเงินจำนวนนี้มีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาและปีนี้น่าจะมีเม็ดเงินลงทุนเพิ่มกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 12,000 ล้านหยวน ซึ่งเม็ดเงินลงทุนเหล่านี้ รวมทั้งการปรับลดอัตราภาษีรายได้นิติบุคคลและขยายเพดานฐานภาษีให้กับธุรกิจ SME ซึ่งเป็นแผนต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา จะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจจีนในปีนี้และสนับสนุนการจ้างงานในประเทศและผลักดันให้มีการบริโภคและการลงทุนในประเทศเพิ่มเติมในท้ายที่สุด”
“นโยบายสุดท้าย ได้แก่ การปฏิรูปเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพอย่างยั่งยืนผ่านการปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปภาษีและปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งนโยบายนี้น่าจะต้องใช้ระยะเวลาอีกสักพักหนึ่ง แต่หากทำได้จริงแล้วนั้น ก็น่าจะส่งผลบวกให้กับจีนได้ไม่น้อย” นายวิน กล่าว
“ซึ่งจากเศรษฐกิจจีนที่รักษาการเติบโตได้แล้ว อีกหนึ่งความน่าสนใจของจีนในปีนี้ได้แก่ การประเมินมูลค่าหุ้นจีนในปัจจุบันที่ยังต่ำกว่าระดับที่เหมาะสมทั้งใน A-Share (หุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จีน) และ H-Share (หุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง) โดยจะเห็นได้จากระดับราคาหุ้นต่อกำไร (PE) ปัจจุบันทั้ง 2 ตลาดยังคงต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาและค่าเฉลี่ยภูมิภาค ขณะที่การเติบโตของรายได้บริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้มองว่าตลาดหุ้นจีนยังคงมีความน่าสนใจและมี Upside gain ที่จะเติบโตต่อไปได้”
“ขณะที่ อีกหนึ่งปัจจัยที่จะผลักดันตลาดหุ้นจีนได้ ได้แก่ การเชื่อมตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงให้สามารถซื้อขายระหว่างกันได้ภายใต้โครงการ A-H Shares inter-connect ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันปริมาณการซื้อขายจะยังไม่มากนักเนื่องจากเริ่มเปิดโครงการ แต่ก็เชื่อว่าด้วยความน่าสนใจของตลาดหุ้นจีนที่กล่าวข้างต้น จะผลักดันให้มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาในตลาดหุ้นมากขึ้นในอนาคต”
ซึ่งจากความน่าสนใจของตลาดหุ้นจีน ทำให้ บลจ.วรรณ เล็งเห็นโอกาสในการลงทุนในตลาดหุ้นจีนแต่เนื่องจากตลาดหุ้นอาจมีความผันผวนจากกระแสข่าวและการประกาศมาตรการต่างๆ ดังนั้นการลงทุนในลักษณะจับจังหวะการลงทุนในข่วงตลาดขึ้นลงผันผวนจึงควรเป็นการลงทุนระยะสั้นเพื่อสร้างกำไรระหว่างทาง ซึ่งสำหรับ บลจ.วรรณ ได้เสนอขายกองทุนเปิด วรรณ ไชน่า แวลู 5/2 ฟันด์ (ONE-CHINA 5/2) ระหว่างวันที่ 2-10 ก.พ. 58 โดยมีเป้าหมายการสร้างผลตอบแทน 5% ในระยะเวลา 5 เดือน โดยเน้นลงทุนในหน่วยลงทุน ETF ประมาณ 60% โดยแบ่งเป็น A-Share ETF 35% และ H-Share ETF 25% และกระจายการลงทุนในลักษณะ Stock Selection ประมาณ 40% เพื่อสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มให้กับกองทุน โดยเน้นลงทุนในหุ้นที่ได้รับอานิสงส์ของมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจและศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจจีน เช่น ธนาคารพาณิชย์ โครงสร้างพื้นฐานและประกัน” นายวินกล่าวปิดท้าย
ทั้งนี้ หากนักลงทุนสนใจการลงทุนในตลาดหุ้นจีนสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายบริการลูกค้าและสนับสนุนธุรกิจที่หมายเลข 02-659-8888 ต่อ1
ข่าวเด่น