เงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่งทางการค้า เป็นสาเหตุที่นำมาสู่การเข้าพบธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ของ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่ง นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้เข้ามาหารือกับ ธปท. มีข้อสรุปที่ขอให้ธปท.ช่วยดูแลใน 3 เรื่อง
1.เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งสภาหอฯ มองว่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าเร็วกว่าสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศคู่แข่ง ซึ่ง ธปท.ได้ชี้แจงและทำความเข้าใจในมุมมองอัตราแลกเปลี่ยนว่า สาเหตุมาจากสภาพเศรษฐกิจการเงินของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน แต่ ธปท.ยืนยันว่าจะทำทุกวิถีทางภายใต้เครื่องมือที่มีอยู่
เพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทเป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจ แต่ภาคเอกชนก็ควรต้องปรับตัว เพื่อช่วยเหลือตัวเองด้วย
ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องออกมาตรการมาดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน แต่สิ่งที่พอจะทำได้คือ เมื่อใดก็ตามที่เห็นว่าค่าเงินมีการเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป ก็พร้อมจะเข้าไปดูแลตามที่เคยใช้เครื่องมือเดิมในการเข้าดูแล
2.ขอให้ ธปท.สนับสนุนให้ใช้เงินของประเทศคู่ค้าแทนการใช้สกุลเงินของประเทศที่ 3 ซึ่งเรื่องนี้ ธปท.มีความเห็นที่สอดคล้องกันกับภาคเอกชน และเห็นว่าจะต้องปรับเปลี่ยนมุมมองในการใช้สกุลเงินระหว่างประเทศคู่ค้า เพื่อมาแทนการอ้างอิงสกุลดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น
3.การมองโอกาสในการเปิดตลาดประเทศที่ถูกคว่ำบาตร เพื่อให้เป็นเป้าหมายใหม่ในการส่งออก เพราะปัจจุบันเรื่องนี้ยังมีข้อจำกัดเรื่องเหตุผลทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่ง ธปท.ต้องการให้ภาคเอกชนจัดระบบต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อม เพราะหากการคว่ำบาตรเริ่มลดน้อยลง จะทำให้ภาคเอกชนสามารถกลับเข้าไปทำธุรกิจหรือการค้าขายกับประเทศนั้นๆ ได้ทันที
ขณะที่ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย ยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมา ธปท.สามารถดูแลอัตราแลกเปลี่ยนและเสถียรภาพทางการเงินได้อย่างเหมาะสม แต่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ค่าเงินบาทมีความผันผวน จากเศรษฐกิจยุโรป ราคาน้ำมันที่ปรับลดลง ราคาสินค้าเกษตร ตกต่ำและยังกระทบต่อความสามารถใน การแข่งขัน เพราะเมื่อเทียบกับมาเลเซียค่าเงินลดไป 8% ขณะที่ยุโรปลดไปกว่า 10% ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นลดไป 10% หลังออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ คิวอี ส่งผลให้เวลาผู้ประกอบการจะส่งออกสินค้าจะต้องปรับลดราคาลง ดังนั้นการหารือครั้งนี้ ภาคเอกชนได้นำข้อมูลมาให้ธปท.วิเคราะห์ปัญหาในแต่ละประเทศอย่างแท้จริง
ด้าน นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และโฆษกหอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้เกิดเหตุการณ์พิเศษเกิดขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินมีความผันผวน จากเศรษฐกิจโลก ยุโรป ราคาน้ำมัน ซึ่งยืนยันว่าในระยะสั้นธปท.ยังดูแลค่าเงินบาทได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งดูความได้เปรียบเสียเปรียบในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยน แต่ในระยะยาวต้องการให้ ธปท.ดูแลในเรื่องโครงสร้างอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งจากที่ยุโรป และญี่ปุ่นอ่อนค่า ขณะที่ดอลลาร์มีการปรับตัวแข็งค่าขึ้น
หลังการหารือในครั้งนี้ คงต้องติดตามว่า ธปท.ในฐานะผู้ดูแลนโยบายการเงินจะมีมุมมองเกี่ยวกับการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอย่างไร
ข่าวเด่น