หนี้ภาคครัวเรือนของไทย ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
ล่าสุด นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยอมรับว่า ขณะนี้ต้องเฝ้าระวังยอดการผิดชำระหนี้ของกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย เช่น กลุ่มเกษตรกร และคนงานทั่วไป เนื่องจากมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้สูงถึง 85-89% และมีโอกาสผิดชำระหนี้เพิ่มขึ้น
เมื่อพิจารณาตัวเลขการผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือน ในไตรมาส 4 ปี 57 พบว่า มีอัตราเพิ่มขึ้นถึง 30.4% คิดเป็นมูลค่า 14,238 ล้านบาท โดยยอดค้างจ่ายหนี้บัตรเครดิตเกิน 3 เดือน เพิ่มขึ้น 25.3% คิดเป็นมูลค่า 8,316 ล้านบาท
ส่วนแนวโน้มการก่อหนี้ครัวเรือนในปี 2558 คาดว่า มูลค่าหนี้ครัวเรือนยังเพิ่มขึ้นแต่เป็นอัตราที่ชะลอตัว เนื่องจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน การชะลอการก่อหนี้ใหม่ที่ไม่จำเป็นของกลุ่มแรงงานที่มีรายได้ปานกลาง และรายได้น้อยของครัวเรือนที่มีหนี้อยู่แล้ว ทั้งจากการไม่สามารถกู้เพิ่มได้ และไม่สามารถรับภาระหนี้เพิ่มได้ และรายได้ที่เพิ่มขึ้นไม่มาก ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่คงที่ และราคาสินค้าเกษตรที่ยังลดลง จะทำให้ครัวเรือนชะลอการใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทนออกไป
แต่ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามและเฝ้าระวังเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อย แม้จะไม่ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงิน แต่กลุ่มเสี่ยงนี้จะมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยอื่นเข้ามากระทบ เช่น เศรษฐกิจ ภัยพิบัติ และความจำเป็นฉุกเฉิน เพราะการสำรองเงินออมของคนกลุ่มนี้มีน้อยจากภาระการใช้คืนหนี้ และความจำเป็นใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และอาจเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นหนี้นอกระบบ
สำหรับมาตรการสินเชื่อรายย่อย เพื่อการประกอบอาชีพ หรือสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลคาดว่าจะช่วยให้ผู้ที่มีรายได้น้อยที่ไม่มีหลักประกันทางการเงิน เข้าถึงสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพได้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว อาจช่วยบรรเทาปัญหาการก่อหนี้นอกระบบได้ แต่ก็เป็นการก่อหนี้ในระบบเพิ่มขึ้นแทน อาจทำให้มูลค่าหนี้ครัวเรือนปรับเพิ่มขึ้น จึงต้องเร่งสร้างวินัยและส่งเสริมการออม ปลูกฝังพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างประหยัด เพื่อสร้างความมั่นคงของครอบครัวและชีวิตในวัยเกษียณ.
ด้านนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารเอชเอสบีซี คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2558 นี้จะขยายตัวได้ในอัตรา 4% แม้จะเพิ่มขึ้นจาก ปี 2557 ที่ขยายตัวได้เพียง 0.5% แต่ก็ต่ำกว่าการคาดการณ์เดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ในอัตรา 4.5% ซึ่งผลจากการที่เศรษฐกิจขยายตัวแบบน่าผิดหวังนี้ ทำให้ตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนปรับสูงขึ้นถึงระดับน่าเป็นห่วง
ข่าวเด่น