เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกร มอง ปี 58 ปีทอง ธุรกิจขนส่งไทย


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดธุรกิจขนส่งทางถนนของไทยคึกคักตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว มองราคาน้ำมันดีเซลลดลง ส่งผลบวกต่อธุรกิจขนส่ง แนะผู้ประกอบการตื่นตัวรับ AEC ขยายการลงทุนไปยังประเทศ CLMV


     
 
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าธุรกิจขนส่งทางถนนของไทยน่าจะมีความคึกคักขึ้นในปี 2558 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในช่วงระยะข้างหน้ามีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของภาครัฐ และโครงการลงทุนภาคเอกชนมีทิศทางที่ดีขึ้น รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนเริ่มทยอยฟื้นตัว นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดีเซลที่ลดต่ำลงมีส่วนช่วยลดภาระต้นทุนด้านพลังงานของภาคการขนส่ง รวมถึงทิศทางการลดลงของราคาพลังงานโดยรวมที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคลงไปได้บางส่วน ก็น่าจะเป็นผลดีต่อภาวะการบริโภค  

สำหรับทิศทางของผู้ประกอบการขนส่งทางถนนของไทยในปี 2558 นี้ นับว่าได้มีการปรับตัวและปรับกลยุทธ์ โดยการมุ่งการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิต และบริการของไทยที่เข้าไปลงทุนในประเทศแถบอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม)ซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศไทย หรือสามารถเดินทางผ่านแดนโดยการคมนาคมทางถนนได้ จึงเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจขนส่งสินค้า ทั้งนี้การให้บริการของธุรกิจขนส่งระหว่างประเทศของผู้ประกอบการไทยไปยัง CLMV ในปัจจุบัน มีการดำเนินการแบ่งได้หลายรูปแบบ เช่น

                - บริการขนส่งระหว่างประเทศเพื่อการเชื่อมโยงการค้า และการเชื่อมโยงซัพพลายเชนระหว่างประเทศ

                - การเข้าไปลงทุนในประเทศ CLMV เพื่อประกอบกิจการขนส่งและการจัดการซัพพลายเชนในประเทศเหล่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเข้าไปให้บริการผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน
 

 
 
ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการไทยมีการเตรียมตัวเพื่อรับโอกาสจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของประเทศ CLMV ซึ่งโอกาสทางการตลาดที่ยังเติบโตได้อีกมากนี้ ทำให้ CLMV เป็นตลาดที่น่าดึงดูดสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยจะเห็นได้จากการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยกับกลุ่มประเทศ CLMV ในปี 2557 มีมูลค่าถึง 151,063.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเติบโตกว่าร้อยละ 28.4 และการลงทุนโดยตรงของไทยในกลุ่มประเทศ CLMV ใน 9 เดือนแรกของปี 2557 มีมูลค่ากว่า 4,629.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเติบโตกว่าร้อยละ 18.4

สำหรับทิศทางของการขยายการลงทุนของธุรกิจขนส่งไปยังประเทศ CLMV ในระยะข้างหน้านั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ธุรกิจขนส่งสินค้าข้ามแดน ธุรกิจคลังสินค้า คลังสินค้าห้องเย็น และรถขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิ เพื่อให้บริการธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านอาหาร เครื่องดื่มและเวชภัณฑ์ เป็นตลาดที่น่าจะขยายตัวได้อีกมาก เนื่องจากสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยเป็นรายการสินค้าส่งออกอันดับต้นๆ ไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าว จากความนิยมจากประชาชนในประเทศเหล่านั้นที่มีต่อเนื่องมายาวนาน นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเข้าไปขยายการลงทุนของธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะเชนร้านอาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวในประเทศ CLMV อีกด้วย
 
ขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศ CLMV มีโครงสร้างด้านเกษตรกรรมที่คล้ายคลึงกันกับประเทศไทย จึงส่งผลให้เกิดการลงทุนด้านธุรกิจการเกษตรของไทยในกลุ่มประเทศดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในลักษณะ Contract farming เพื่อรับซื้อผลผลิตกลับมาแปรรูปยังประเทศไทย และการลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตร อาทิ การผลิตน้ำตาล การแปรรูปอาหารสัตว์ เป็นต้น ดังนั้น จึงส่งผลให้ธุรกิจขนส่งสินค้าเกษตร และศูนย์กระจายสินค้าเกษตร เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่น่าจับตามอง

ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในขณะนี้มีแนวโน้มทรงตัว หลังจากมีการปรับระดับราคาลงเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ควบคู่กับการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จึงส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยราคาน้ำมันดีเซลปัจจุบัน ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 อยู่ที่ 26.79 บาท/ลิตร โดยต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงคิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ของต้นทุนการขนส่งสินค้าในแต่ละเที่ยว   

“หากราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยในปี 2558 ลดลงจากปี 2557 ประมาณร้อยละ 15 ในขณะที่ปัจจัยต้นทุนด้านอื่นคงที่ จะส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งสินค้าต่อเที่ยวลดลงร้อยละ 4.4 จากเที่ยวละ 34.15 บาท ต่อกิโลเมตร เหลือเที่ยวละ 32.66 บาท/กิโลเมตร หรือราคาน้ำมันดีเซลที่เปลี่ยนแปลงไปทุกร้อยละ 10 จะส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งต่อเที่ยวเปลี่ยนแปลงไปร้อยละ 2.9 “ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ

 
 
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยอีกว่า อย่างไรก็ดี แม้ว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงจะส่งผลบวกต่อธุรกิจขนส่ง แต่คาดว่าในระยะข้างหน้าอัตราค่าขนส่งจะไม่ได้ปรับตัวลงมากนัก เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มทรงตัว และนโยบายการปรับโครงสร้างราคาพลังงานของรัฐที่ลดการนำเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันและเพิ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล นอกจากนี้ ผู้ประกอบการก็ยังคงต้องเผชิญต้นทุนด้านอื่นๆ โดยเฉพาะต้นทุนด้านค่าตอบแทนแรงงาน ซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 39 ของต้นทุนการขนส่งสินค้าทั้งหมด รวมถึงค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษารถซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 25 ของต้นทุนทั้งหมดอีกด้วย

ทั้งนี้ นอกจากผู้ประกอบการขนส่งชาวไทยจะเล็งเห็นโอกาสจากขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของอาเซียนภายหลังการเปิด AEC แล้ว ผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างชาติยังได้สนใจเข้ามาลงทุนดำเนินธุรกิจขนส่งในไทยและอาเซียนอีกด้วย ซึ่งนับเป็นประเด็นท้าทายสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันจากต่างประเทศหลากหลายกลุ่ม ซึ่งมีจุดแข็งและตลาดเป้าหมายที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ประกอบการไทยนั้น นับว่ามีจุดแข็งจากการเป็นเจ้าถิ่นที่มีประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจในพื้นที่มานาน จึงมีความเชี่ยวชาญด้านเส้นทางและมีเครือข่ายพันธมิตรในการประกอบธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีสายสัมพันธ์อันดีในการเป็นคู่ค้ากับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศ รวมทั้งการมีความรู้ความชำนาญด้านกฎระเบียบและพิธีการด้านการประกอบการขนส่งทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศอีกด้วย

 

                 

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 ก.พ. 2558 เวลา : 14:21:06
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 2:48 pm