แบงก์-นอนแบงก์
ธ.ก.ส. คาดปล่อยกู้กองทุนหมู่บ้านเกรดเอ 1 เม.ย.นี้ วงเงิน 2 หมื่นล้าน


 ธ.ก.ส. คาดเริ่มปล่อยกู้กองทุนหมู่บ้านเกรดเอได้ 1 เม.ย.นี้ หลังสศค.เตรียมมาตรการทั้งหมดเข้าครม. 10 มี.ค. เตรียมวงเงิน 2 หมื่นล้านบาทปล่อยกู้ 1.5 หมื่นกองทุน อัตราดอกเบี้ย 5 % ให้นำไปปล่อยกู้ต่อให้สมาชิกเพื่อใช้แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และใช้จ่ายฉุกเฉิน เดินหน้าปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกรกว่า 3 แสนรายตามมาตรการแก้จน

 
นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)เตรียมจะเสนอมาตรการสนับสนุนด้านเงินทุนแก่กองทุนหมู่บ้านเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในวันที่ 10 มี.ค.นี้ โดยในส่วนของธ.ก.ส.จะเข้าไปสนับสนุนเงินกู้ให้กับกองทุนหมู่บ้านที่มีผลการดำเนินงานดี หรือกองทุนเกรดเอจำนวน 1.5 หมื่นกองทุน วงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาคืนหนี้ 5 ปี คาดว่าจะเริ่มดำเนินการปล่อยกู้ได้ในวันที่ 1 เม.ย.นี้
 
ในการปล่อยกู้ให้กองทุนหมู่บ้านครั้งนี้ ธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ หรืออยู่ในระดับ 5% ต่ำกว่าการปล่อยกู้ให้ลูกค้าทั่วไปที่คิดอัตราดอกเบี้ย 7% ต่อปี หากนำไปถัวเฉลี่ยกับเงินเพิ่มทุนที่ได้จากรัฐบาลมาโดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ก็จะทำให้กองทุนมีต้นทุนต่ำ เฉลี่ยประมาณ 2% สามารถนำไปปล่อยกู้ให้กับสมาชิกในอัตราไม่เกิน 5% ได้
 
โดยธ.ก.ส.จะปล่อยกู้เสริมสภาพคล่องให้กองทุนละ 1 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปปล่อยกู้ให้กับสมาชิกในการใช้จ่ายฉุกเฉิน และแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ที่เหลือจะเป็นการปล่อยกู้ในการซื้อเครื่องจักรเพื่อใช้การเกษตรต่างๆ โดยแยกเป็น 2 ส่วนคือ 1.วงเงินกู้ 1.5 หมื่นล้านบาท จะให้สำหรับปล่อยกู้ให้แก่กองทุนหมู่บ้าน เพื่อให้กองทุนหมู่บ้านนำไปปล่อยกู้ให้แก่สมาชิกสำหรับการแก้ไขหนี้และลดหนี้นอกระบบ วงเงินกู้เพื่อการประกอบอาชีพ เช่น ทำนา ทำไร่ และวงเงินกู้เพื่อพัฒนาชุมชนหรือพัฒนาตนเอง เช่น การลงทุนกลุ่มของวิสาหกิจชุมชนเพื่อประกอบอาชีพ เป็นต้น
 
ส่วนที่ 2 วงเงินกู้ที่เหลือ 5 พันล้านบาท จะปล่อยกู้ให้แก่กองทุนหมู่บ้านโดยตรง เพื่อลงทุนในกิจการที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น การซื้อเครื่องจักร หรืออุปกรณ์ ทาง การเกษตร เพื่อเพิ่มผลผลิต 
 
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนหมู่บ้านมีอยู่ประมาณ 7.9 หมื่นกองทุนทั่วประเทศ ในจำนวนนี้ ธ.ก.ส.ดูแลและรับผิดชอบประมาณ 3 หมื่นกองทุน แบ่งเป็นกองทุนหมู่บ้านเกรด เอ และเกรด บี ประมาณ 2 หมื่นกองทุน ที่มีความพร้อมในการพัฒนาตนเองขึ้นเป็นสถาบันการเงินชุมชน ที่เหลืออีก1 หมื่นกองทุน แห่งจัดอยู่ในเกรดซี และเกรดดี ซึ่งกลุ่มนี้ ธ.ก.ส.จะยังไม่ปล่อยกู้ เพราะมีปัญหาเรื่องหนี้สิน การบริหารจัดการ เป็นต้น แต่ก็จะยังไม่ตัดสิทธิ์ โดยจะส่งทีมเข้าไปบริหารและจัดการหนี้ให้ดีขึ้นมาในระดับหนึ่งก่อน
 
ที่ผ่านมาธ.ก.ส.ได้ปล่อยกู้ให้กับกองทุนหมู่บ้านอยู่แล้ว จำนวน 1.4 หมื่นกองทุน คิดเป็นวงเงินรวม 1.7 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยประมาณ 5% ส่วนหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอลเฉลี่ยประมาณ 2 % ของยอดการปล่อยกู้ให้กับกองทุนหมู่บ้านทั้งหมด ต่ำกว่าเอ็นพีแอลของธ.ก.ส.ทั้งระบบที่อยู่ 4.6 % ซึ่งเอ็นพีแอลส่วนใหญ่เกิดจากเหตุการณ์ผิดปกติ เช่นภัยแล้ง พืชผลเกษตรเสียหาย ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกร
 
โดยมาตรการช่วยเหลือคนจน และลดความเหลื่อมล้ำนั้น ได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)เศรษฐกิจแล้ว ในส่วนของธ.ก.ส.จะดูแลเรื่องหนี้สินของเกษตรกร เช่นศักยภาพในการชำระหนี้ ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าที่มีปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ต่ำกว่ายอดเงินชำระต่อเดือน จึงต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ ปรับลดเงินส่งชำระ กลุ่มนี้มีประมาณ 2-3 แสนราย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มลูกค้าที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้เลย หรือเป็นลูกหนี้ที่ไม่มีศักยภาพ จะต้องหาแนวทางแก้ไข กลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 2 หมื่นราย
สำหรับ ธ.ก.ส.เสนอ 4 มาตรการในการช่วยเกษตรกรแก้ไขปัญหาหนี้ ทั้งการพักชำระ และยืดหนี้ มาตรการแรก สำหรับลูกหนี้เกษตรกรเดิมที่ยังค้างชำระหนี้กับธ.ก.ส. จากเหตุผิดปกติจำนวน 5 หมื่นราย เช่น หัวหน้าครอบครัวเสียชีวิต ขาดรายได้อาจต้องเลิกประกอบอาชีพ และไม่มีที่ดินทำกิน มูลหนี้ 2-3 หมื่นล้านบาท 
ส่วนอีก 3 มาตรการเป็นการสำหรับมาตรการช่วยเหลือจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ซึ่ง 2 กลุ่มแรก คือ ลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างนานโอกาสฟื้นยาก และลูกหนี้ค้างชำระแต่ยังมีศักยภาพจะชำระหนี้ต่อไปได้ ธ.ก.ส.จะมีมาตรการ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้และขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ให้นานขึ้น
 
กลุ่มสุดท้าย เป็นลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากราคาข้างและราคายางตกต่ำ ธ.ก.ส.ขยายระยะเวลาชำระหนี้ เฉพาะเงินต้นออกไป 1 ปี เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกร กลุ่มนี้ยังจะได้รับสินเชื่อสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติม ผ่านมาตรการสินเชื่อธ.ก.ส. ที่มีอยู่แล้วเป็นดอกเบี้ยอัตราพิเศษ ธ.ก.ส.ได้เตรียมวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมไว้ไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท คาดว่า วงเงินสินเชื่อเฉลี่ยประมาณ 5 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาทต่อราย เพื่อให้มีวงเงินหมุนเวียนทำการผลิต สร้างรายได้และมีความสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ต่อไป

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 ก.พ. 2558 เวลา : 10:15:02
29-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 29, 2024, 3:02 am