เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
รับมือสถานการณ์ภัยแล้งวิกฤติซ้ำซาก


สถานการณ์ภัยแล้งนับเป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นซ้ำซากทุกปีแม้รัฐบาลจะพยายามวางแผนเพื่อรับมือกับภัยแล้งที่เกิดขึ้นแต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนและเด็ดขาด

 

 

ซึ่ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.1)กล่าวว่า ได้รับรายงานจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2557 – ปัจจุบัน มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง)17 จังหวัด 54 อำเภอ ทั้งนี้ ได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสานจังหวัดปฏิบัติการแก้ไขปัญหา และวางมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งให้สอดคล้องกับระดับความรุนแรงของสถานการณ์ภัยแล้งในแต่ละพื้นที่ โดยวางแผนบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่จำกัดให้เป็นระบบเกิดประโยชน์สูงสุด และเชื่อมโยงในทุกระดับ รวมถึงแจกจ่ายน้ำทั่วถึงครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง


นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังประชุมคณะอนุกรรมการวางแผนและติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีความเป็นห่วงเรื่องสถานการณ์ภัยแล้งและหมอกควัน ที่สถานการณ์จะรุนแรงมากขึ้นในเดือน มี.ค.ของทุกปี ซึ่งจากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ในปีนี้ฤดูฝนจะมาช้ากว่าปกติ หรือเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง โดยจะมาในช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน มิ.ย.

 
 
 
ทั้งนี้ กรมชลประทานมั่นใจว่าจะสามารถวางแผนในการบริหารจัดการปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ให้ใช้ได้อย่างเพียงพอกับการอุปโภคบริโภค จากปริมาณน้ำล่าสุดในเขื่อนที่มีอยู่ประมาณ 1.8 หมื่นกว่าล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีปริมาณใกล้เคียงกับปี 57 พร้อมกับวางแผนจัดสรรเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศน์ได้เพียงพอจนถึงเดือน ก.ค. แต่จะไม่มีน้ำสนับสนุนการทำนา โดยนาปรังที่ทำเกินแผนปลูกพืชฤดูแล้งในลุ่มเจ้าพระยาเสียหายอย่างสิ้นเชิง ประมาณ 9.5 หมื่นไร่ ในพื้นที่ปลูกข้าว 12 จังหวัด โดยเฉพาะ นครสวรรค์ กำแพงเพชร ชัยนาท สุพรรณบุรี อ่างทอง และในลุ่มน้ำแม่กลองเสียหายอีกประมาณ 3.8 หมื่นไร่ หรือประมาณร้อยละ 3 - 4 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด

ด้าน นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ยอมรับว่า ขณะนี้บางพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งแล้ว โดยตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2557 – ปัจจุบัน มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน(ภัยแล้ง)แล้ว 17 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ สกลนคร ลพบุรี บุรีรัมย์ มหาสารคาม สุโขทัย นครสวรรค์ ขอนแก่น ชัยนาท พิษณุโลก จันทบุรี พิจิตร ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ตรัง และชลบุรี รวม 54 อำเภอ 316 ตำบล 3,208 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 4.28 ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ 
 
 
 
 
ทั้งนี้ ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยจัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประสานจังหวัดสำรวจปริมาณน้ำจัดทำบัญชีแหล่งน้ำในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อสนับสนุนการสูบน้ำดิบเข้าสู่ระบบประปาหมู่บ้านและถังน้ำกลางประจำหมู่บ้านให้ประชาชนได้ใช้อุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอและบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง
 
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือปัญหาภัยแล้ง โดยจัดหาทำความสะอาดซ่อมแซมภาชนะกักเก็บน้ำให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดี สำรองน้ำไว้อุปโภคบริโภคและใช้น้ำอย่างประหยัด ส่วนเกษตรกรควรเลือกปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อยแทนการทำนาปรัง เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง
 
ด้าน นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบาย โดยได้สั่งการให้หน่วยงานที่กำกับดูแลสินค้าเกษตรไปติดตามสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นว่าจะกระทบต่อสินค้าเกษตรและจะช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างไร
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 ก.พ. 2558 เวลา : 10:39:05
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 2:48 pm